วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความรู้คู่การศึกษา เกี่ยวกับปรัชญาหรือทฤษฏีผู้บริหาร

บทที่ 1
การบริหาร และความหมาย
การบริหารเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานขององค์การที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย และเพื่อความอยู่รอดขององค์การ การเรียนรู้เรื่องการบริหารองค์การจะช่วยให้องค์การสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายของงาน บุคลากร ตลอดจนกลไกการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม เพราะโดยปกติองค์การทุกประเภทต้องมีกิจกรรมการดำเนินงานและเป้าหมายเป็นหลัก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามลักษณะขององค์การ แต่ในหลักของการบริหารแล้วองค์การทุกองค์การย่อมมีหลักการบริหารส่วนใหญ่ที่เหมือนกัน จะแตกต่างกันก็เฉพาะในส่วนปลีกย่อยเท่านั้น ดังนั้น การทำความเข้าใจกับองค์ประกอบต่างๆ ของการบริหารจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหาร เพื่อประโยชน์ในการบริหารองค์การ
การบริหาร สามารถใช้คำ 2 คำแทนกันได้ ได้แก่คำว่า “การบริหาร (Administration)” และ “การจัดการ (Management)” แต่ในความหมายที่แท้จริง คำว่า การบริหาร (Administration) จะเน้นในเรื่องของการจัดการที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งมักจะใช้กับการบริหารงานทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ส่วนคำว่า การจัดการ (Management) มักจะใช้ในงานที่เกี่ยวกับธุรกิจเอกชน แต่ทั้ง 2 คำต่างก็มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของผู้บริหารทั้งสิ้น

คำจำกัดความ คำว่า “การบริหาร”
ไซมอน (Simon) กล่าวว่า การบริหาร หมายถึง ศิลปะในการทำให้สิ่งต่างๆ ได้รับการกระทำจนเป็นผลสำเร็จ กล่าวคือ ผู้บริหารมิใช่ผู้ปฏิบัติ แต่เป็นผู้ใช้ศิลปะทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานจนสำเร็จตามมุ่งหมายที่ผู้บริหารตัดสินใจเลือกแล้ว
เซอจิโอวานนิ (Sergiovanni) ให้ความหมายว่า การบริหาร คือ กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือโดยผู้อื่น เพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
บาร์นาร์ต (Barnard) กล่าวว่า การบริหาร หมายถึง การทำงานของคณะบุคคล ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่ร่วมกันปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
เกทเซลส์และกูบา (Getzels and Guba) ให้ความหมายว่า การบริหารเป็นกระบวนการทางสังคม 3 ทาง คือ
1.ทางโครงสร้าง ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นของสายการบังคับบัญชา
2.ทางหน้าที่ ได้แก่ ขั้นตอนของหน่วยงานที่ระบุบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้การบริหารสำเร็จตามเป้าหมาย
3.ทางปฏิบัติ ได้แก่ กระบวนการบริหารที่บุคคลและกลุ่มบุคคลต้องร่วมกันทำปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน
คูนท์ (Koontz) ให้ความหมายว่า การบริหาร หมายถึง การดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยอาศัยปัจจัยทั้งหลาย ได้แก่ คน เงิน วัสดุสิ่งของ เป็นอุปกรณ์ในการบริหารงาน
เทอรี่ (Terry) ให้ความหมายว่า การบริหารเป็นกระบวนการต่างๆ ประกอบด้วย การวางแผน การจัดหน่วยงาน การอำนวยการ การควบคุมที่ถูกพิจารณาจัดกระทำขึ้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยใช้กำลังคน และทรัพยากรที่มีอยู่
เฮอร์เซย์, แบลนชาร์ด และจอห์นสัน (Hersey, Blanchard and Johnson, 2001) ได้ให้ความหมายว่า การบริหาร เป็นกระบวนการทำงานร่วมกับบุคคล และกลุ่มบุคคลซึ่งพร้อมด้วยปัจจัยทางการบริหาร ได้แก่ เครื่องมือต่างๆ งบประมาณ และเทคโนโลยี เพื่อที่จะนำองค์การไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
การบริหาร เป็นเรื่องของการทำกิจกรรมโดยผู้บริหารและสมาชิกในองค์การ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเกี่ยวพันกับ คน ความรู้สึกนึกคิด ทรัพยากร จุดมุ่งหมาย และกระบวนการในการบริหารงาน
ปัจจัยทางการบริหาร
การบริหารงานทุกประเภทในทุกองค์การ จำเป็นจะต้องมีปัจจัย หรือทรัพยากรพื้นฐานทางการบริหาร โดยทั่วไปถือว่าปัจจัยที่สำคัญของการบริหารมีอยู่ 4 ประการ ซึ่งรู้จักกันในนามของ
4 M’s ได้แก่
1.คน (Man) ได้แก่ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลในองค์การที่ร่วมกันทำงาน
2.เงิน (Money) ได้แก่ งบประมาณที่ใช้ในการบริหารทุกๆ ส่วนขององค์การ
3.วัสดุสิ่งของ (Material) ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
4.การจัดการ (Management) ได้แก่ การบริหารงานองค์การของผู้บริหาร
ในปัจจุบันนักวิชาการ เช่น เฮอร์เซย์, แบลนชาร์ด และจอห์นสัน (Hersey, Blanchard and Johnson, 2001) มีความเห็นว่า การจูงใจ (Motivation) เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการบริหารองค์การ องค์การจะอยู่รอดและเจริญเติบโตขึ้นได้ ก็ด้วยแรงจูงใจที่องค์การมีให้ต่อพนักงาน แรงจูงใจเหล่านี้ ได้แก่ รายได้ รางวัล ค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ รวมทั้งรางวัลที่มิได้เป็นตัวตน หรือจับต้องได้ เช่น การยกย่องชมเชย การประกาศเกียรติคุณ เป็นต้น แรงจูงใจเหล่านี้ถ้าองค์การสามารถตอบสนองให้แก่พนักงานได้ การลาออก และการขาดงานของพนักงานจะลดลง ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่องค์การ ดังนั้น การจูงใจ (Motivation) จึงเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับการบริหาร
การบริหารมีส่วนสัมพันธ์กับสิ่งต่อไปนี้ คือ
1.การกำหนดวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายขององค์การ
2.ทรัพยากรทางการบริหาร ซึ่งรวมถึงกลุ่มบุคคลในองค์การ
3.กลไกการดำเนินงาน หรือการจัดกิจกรรมขององค์การ
ทักษะที่จำเป็นสำหรับการบริหาร (Management Skills)
การบริหารงานโดยทั่วไปนั้น ผู้บริหารมักจะประสบปัญหาต่างๆ สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาอาจมาจากการขาดทักษะในการบริหารงานของผู้บริหาร การขาดประสบการณ์และความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อันเป็นทักษะจำเป็นของผู้บริหาร
ทักษะจำเป็นในการบริหารงานตามแนวคิดของแคทซ์ (Katz, 1955) มี 3 ประการ คือ
1.ทักษะด้านเทคนิควิธี (Technical Skills) คือ ความสามารถในการใช้ความรู้ วิธีการเทคนิค และเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อผลสำเร็จของงานที่ได้มาจากประสบการณ์ การศึกษา และการฝึกอบรม ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.ทักษะด้านมนุษย์ (Human Skills) คือ ความสามารถในการคิดตัดสินใจทำงานร่วมกับคนอื่น และทำให้คนอื่นให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ได้แก่ การจูงใจคน และการประยุกต์ภาวะผู้นำมาใช้ในการบริหารงาน
3.ทักษะด้านความคิดรวบยอด (Conceptual Skills) คือ ความสามารถในการมององค์การได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพื่อทำให้องค์การมีความสมบูรณ์โดยส่วนรวม ด้วยการทำให้การทำงานของแต่ละบุคคลเหมาะสมกับองค์การ ทักษะด้านความรู้ความสามารถเป็นการยอมรับวัตถุประสงค์ขององค์การมากกว่าที่จะคำนึงถึงความต้องการของบุคคลโดยบุคคลเพียงหนึ่งเดียวในองค์การ
ศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ให้ความเห็นว่า ทักษะด้านความคิดรวบยอดนี้เป็นความสามารถของผู้บริหารที่จะเข้าใจความซับซ้อนขององค์การทั้งหมด มีความสามารถในการมองเห็นองค์การในภาพรวม เหมือนกับการมองของนกที่มองลงมาจากที่สูง โดยมองเห็นองค์การในภาพรวมทั้งหมดว่าองค์การประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ อะไรบ้าง แต่ละส่วนต้องปฏิบัติภารกิจอะไร สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ ขององค์การว่า จะต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างไร การเปลี่ยนแปลงหรือการด้อยประสิทธิภาพของส่วนใดส่วนหนึ่งขององค์การ จะมีผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ขององค์การอย่างไรบ้าง ทักษะทางความคิดรวบยอดนี้อาจเรียกว่าเป็นทักษะทางมโนคติได้
ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหาร (Administration) กับ การจัดการ (Management)
สมพงศ์ เกษมสิน (2513 : 11-12) กล่าวไว้ว่า “ Administration” หมายถึง การบริหารราชการ และการจัดการ Management หมายถึง การจัดการในทางธุรกิจ มากกว่าจะหมายถึงการบริหารราชการ หรือบริหารรัฐกิจ Administration มักจะเน้นในเรื่องการบริหารหรือการจัดการเกี่ยวกับนโยบาย ส่วน Management นั้น เป็นการนำนโยบายไปปฏิบัติจัดทำเป็นส่วนใหญ่ ด้านความนิยมแพร่หลาย คำว่า Administration นิยมใช้ในการบริหารราชการ และคำว่า Management มักนิยมใช้ในทางบริหารธุรกิจ อย่างไรก็ดีสองคำนี้โดยทั่วไปใช้แทนกัน และหมายถึง การบริหารได้เช่นกัน
พยอม วงศ์สารศรี (2531 : 30) กล่าวถึง ความแตกต่างและความเหมือนกันของคำว่า Administration และ Management ว่าโดยทั่วไปคำ Management จะใช้ในภาษาไทยว่าการจัดการ ส่วนAdministration จะใช้คำว่า การบริหาร แต่ในระยะหลังๆจะพบว่าใช้คำทั้งสองนี้แทนกันได้ มีนักวิชาการเสนอความคิดเห็นต่อคำทั้งสองคำนี้
คำ Management และ Administration นี้ได้มีการให้ความหมายใน 3 แนวทางด้วยกันคือ
แนวทางที่ 1 การบริหาร ( Administration ) เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย และการจัดการ (Management) เป็นการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Administration is concerned with the determination of policies and management with the implementation of policies) ซึ่งมีนักวิชาการหลายคนที่สนับสนุนความหมายนี้ ได้แก่ Oliver Sheldon, Florence and Tead, Sprigel and Lansburgh (Kapoor and Narang, 1797)
แนวทางที่ 2 การจัดการ (Managament) เป็นความหมายทั่วไปโดยรวมการบริหารเข้าไปด้วยกัน(Management is a generic term and includes administration) แนวทางนี้มองว่า การจัดการเป็นกระบวนการที่ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อการดำเนินการขององค์การธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนการบริหาร เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เป้าหมายที่กำหนดในขั้นการจัดการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เป้าหมายที่กำหนดในขั้นการบรรลุผล ผู้ที่มีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางนี้ก็คือ Brench และ Kimball (Brench 1976)
แนวทางที่ 3 การบริหารและการจัดการมีความหมายไม่แตกต่างกัน (There is no distinction between the terms management and administration) เป็นความหมายที่เป็นที่ยอมรับกันในยุคปัจจุบันนี้แต่การนิยมใช้จะแตกต่างกัน โดยคำว่า “การจัดการ” จะใช้ในหน้าที่การบริหารระดับสูง ในด้านการกำหนดนโยบาย การวางแผน การจัดองค์การ การจัดบุคคลเข้าทำงาน การสั่งงาน และการควบคุมในองค์การธุรกิจ ส่วนคำว่า “การบริหาร” จะใช้ในหน้าที่เช่นเดียวกับการจัดการ แต่ใช้ในองค์การรัฐบาลแต่อย่างไรก็ตาม คำสองคำนี้มักจะใช้แทนที่กันและกัน
การบริหาร (Administration) หมายถึง
วิจิตร ศรีสอ้าน (2535 : 19) ให้ความหมายว่า การบริหาร เป็นกิจกรรมของกลุ่มบุคคล ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมมือกันทำกิจกรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันโดยใช้กระบวนการ และทรัพยากรที่เหมาะสม
Simon,Smithberg และ Thomson (1950 : 3) ให้ความหมายว่า การบริหารเป็นกิจกรรมของกลุ่มคนที่ร่วมกันทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
Hodgson (1969: 1) ให้ความหมายว่า การบริหาร เป็นกิจกรรมชนิดหนึ่งที่พบในการทำงานทั้งหน่วยงานรัฐและองค์การทางธุรกิจที่ทำสิ่งต่างๆ ในกระบวนการจะได้รับผลมากน้อยขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆ ที่ร่วมกันทำให้บรรลุจุดมุ่งหมาย หรืออาจกล่าวสั้นๆว่า การบริหาร หมายถึง การที่องค์การใช้คนและวัสดุในการไปให้ถึงความต้องการที่กำหนดไว้
Williams (1980 : 7) ให้ความหมายว่า การบริหาร มีกิจกรรมหลัก 3 ประการในการบริหารคือการดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมาย การบำรุงรักษาองค์การให้อยู่รอดและป้องกันองค์การจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
Collins (1989 : 13) ให้ความหมายว่า การบริหาร เป็นกลุ่มของกิจกรรมที่ร่วมกันในองค์การและแนะแนวทางให้เห็นถึงหน้าที่ให้กับประเทศ บริษัทหรือสถาบัน
สรุปว่า การบริหาร เป็นการที่บุคลากร หรือกลุ่มของบุคคลร่วมกันดำเนินกิจกรรมให้สำเร็จตามเป้าหมายที่องค์การกำหนดไว้

การจัดการ (Management) หมายถึง
Robbins (1982 : 9) ให้ความหมายว่า การจัดการ เป็นกระบวนการของการนำกิจกรรมที่สมบูรณ์ดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล โดยผ่านการกระทำของบุคลากร คำจำกัดความของการจัดการต้องรวมกับปัจจัย 3 ปัจจัย คือ เป้าหมาย เป็นกิจกรรมที่สมบูรณ์ ทรัพยากรที่มีจำกัด เป็นการประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ บุคลากร เป็นการดำเนินการที่ผ่านบุคคลอื่นด้วย
Collins (1989 : 478) ให้ความหมายว่า การจัดการ เป็นการจัดการด้านธุรกิจหรือการจัดองค์การด้านอื่นๆที่มีการควบคุมและมีการจัดองค์การอยู่ด้วย
Bartol และ Martin (1991 : 6) ให้ความหมายว่า การจัดการ เป็นกระบวนการที่ทำให้เป้าหมายขององค์การประสบความสำเร็จโดยผ่านหน้าที่หลัก 4 อย่างคือ การวางแผน การจัดองค์การ การใช้ภาวะผู้นำ และการควบคุม
English (1992 : 224) ให้ความหมายว่า การจัดการ เป็นขอบเขตขององค์การของมนุษย์ซึ่งมีอยู่อย่างเพียบพร้อมในสำนักงาน มีการจำแนก มีการกำหนดตำแหน่งที่ล่วงหน้าและกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันไว้ด้วย
Holt (1993 : 3) ให้ความหมายว่า การจัดการ เป็นศาสตร์ของการกระทำสิ่งต่างๆโดยผ่านการกระทำของบุคลากร
สรุปว่า การจัดการ เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการของการวางแผน การจัดองค์การภาวะผู้นำและการควบคุม ในการใช้ทรัพยากร โดยผ่านผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ
กระบวนการบริหาร (Administration Process)
สมพงศ์ เกษมสิน (2523 : 10) แบ่งกระบวนการบริหารไว้ 5 ขั้น คือ
1. การวางแผน (Planning)
2. การจัดองค์การ(Organize)
3. การจัดคนเข้าทำงาน(Staff)
4. การอำนวยการ(Direct)
5. การควบคุม(Control)
Gulick and Urwick(1937 : 13) แบ่งหน้าที่ของการบริหาร เป็น 7 ขั้น ดังนี้
1. การวางแผน(Planning)
2. การจัดองค์การ(Organizing)
3. การจัดคนเข้าทำงาน(Staffing)
4. การอำนวยการ(Directing)
5. การประสานงาน(Coordinating)
6. การเสนอรายงาน(Reporting)
7. การงบประมาณ(Budgeting)
Sergiovanni, Burlingame, Coombs, Thurston,.(1980 : 12-13) เสนอกระบวนการบริหารไว้ 4 ขั้นดังนี้
1.การวางแผน (Planning)
2.การจัดองค์การ(Organizing)
3.การใช้ภาวะผู้นำ(Leading)
4.การควบคุม(Controlling)
สรุปได้ว่า กระบวนการบริหารประกอบด้วย 4 ขั้น ดังนี้
1. การวางแผน(Planning)
2. การจัดองค์การ(Organizing)
3. การประสานงาน(Coordinating)
4. การควบคุม(Controlling)
กระบวนการจัดการ (Management Process)
Dale and Michelon (1966 : 2-10) แบ่งกระบวนการจัดการ เป็น 8 ขั้น ดังนี้
1. การวางแผน (Planning)
2. การจัดองค์การ(Organizing)
3. การจัดคนเข้าทำงาน(Staffing)
4. การอำนวยการ(Directing)
5. การควบคุมงาน(Controlling)
6. การใช้นวัตกรรม(Innovating)
7. การนำเสนอ(Representing)
8. การสื่อสาร(Communication
Richards(1982 : 9) แบ่งกระบวนการจัดการออกเป็น 6 ขั้น ดังนี้
1. การวางแผน(Planning)
2. การจัดองค์การ(Organizing)
3. การจูงใจ(Motivating)
4. การใช้ภาวะผู้นำ(Leadership)
5. การควบคุมงาน(Control)
6. การจัดคนเข้าทำงาน(Staffing)
Griffin(1984 : 7)แบ่งกระบวนการจัดการออกเป็น 4 ขั้น ดังนี้
1. การวางแผน(Planning)
2. การจัดองค์การ(Organizing)
3. การใช้ภาวะผู้นำ(Leading)
4. การควบคุม(Controlling)

สรุปได้ว่า กระบวนการจัดการ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. การวางแผน(Planning)
2. การจัดองค์การ(Organizing)
3. การจัดคนเข้าทำงาน(Staffing)
4. การควบคุมงาน(Controlling)

บทที่ 2
แนวคิดทางการศึกษาของนักการศึกษาไทย
จากการติดตามผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับแนวคิดทางการศึกษาในอดีตเท่าที่รวบรวมได้พบว่าเป็นแนวคิดทางการศึกษาของนักการศึกษาในกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งหมด คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร ม.ล. ปิ่น มาลากุล และ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งจะกล่าวเพียงย่อ ๆดังนี้
1. แนวคิดทางการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แนวคิดทางด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352 – 2367) นั้นส่วนใหญ่เป็นการศึกษานอกระบบ ลักษณะของการศึกษาที่ใช้เป็นการปฏิบัติจริงและเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เป็นการสร้างและเสนอแนวทางของการกระทำและการเรียนรู้ใหม่ๆ ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนในสมัยของพระองค์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่และสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในสมัยนั้น พระองค์ได้ทรงส่งเสริมงานด้านวรรณกรรมคดี ซึ่งนับเป็นหัวใจในด้านการศึกษาและยังให้ความสนุกสนานพร้อมทั้งการเรียนรู้ในด้านภาษาและจริยธรรมควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังทรงเล็งเห็นการณ์ไกลและทรงเห็นความสำคัญของงานด้านอาชีวศึกษา โดยส่งเสริมวิชาการช่างสาขาต่างๆ คือ ช่างสิบหมู่ ส่งเสริมงานด้านนาฏศิลป์ งานด้านศาสนาและงานการศึกษาด้านสุขอนามัยและสุขภาพจิต (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2526 : 1)
2. แนวความคิดทางการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394 – 2411) ได้ทรงส่งเสริมให้มีการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ คือ ภาษาอังกฤษเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การศึกษาวิชาแขนงอื่นๆ ต่อไป ทรงโปรดให้คณะมิชชันนารีเข้าไปสอนเจ้านายและราชการฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้ทรงจ้างชาวยุโรปและอเมริกันมารับราชการโดยให้สอนและหัดวิชาการด้านต่างๆ แก่คนไทย เช่น การช่างเรือ การต่อเรือและการทหาร เป็นต้น (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2526 : 2)
3. แนวคิดทางการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411 – 2468) ทรงตระหนักในความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยทรงเห็นว่าไม่ว่าเจ้านาย ขุนนาง หรือไพร่ควรจะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ตลอดระยะเวลา 42 ปี ในรัชสมัยของพระองค์ การศึกษาของไทยได้วิวัฒนาการอย่างกว้างขวาง เป็นการปฏิรูปจากการเรียนในวัด ในวัง และในครอบครัว มาเป็นการศึกษาแบบใหม่ในรูปโรงเรียนตามแบบตะวันตก ความจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้าปฏิบัติงานในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ นับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในสมัยนั้น โรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในสมัยรัชกาลของพระองค์มีหลายแห่ง เช่น โรงเรียนทำแผนที่ โรงเรียนไปรษณีย์โทรเลข โรงเรียนเกษตร โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือและโรงเรียนมหาดเล็ก ทั้งนี้เพื่อฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือน และโรงเรียนราชแพทยาลัย นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2440 พระองค์ยังทรงตั้งทุนเล่าเรียนหลวง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสติปัญญาสอบไล่แข่งขันไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศปีละ 2 ทุนด้วย (วิลาศวงศ์ พงศะบุตร 2525 : 12)
4. แนวคิดทางการศึกษาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พ.ศ. 2440 – 2464) ทรงเห็นว่าควรให้ผู้เรียนได้รับความรู้ มีความประพฤติดีและสามารถประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ทรงเห็นว่า ควรจัดให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศชาติ ถ้าประเทศชาติต้องการให้คนมีความรู้อย่างไร ก็ต้องพยายามจัดการศึกษาไปตามแนวนั้น ไม่ควรทำตามอย่างประเทศอื่น ถึงแม้ว่าวิชาความรู้บางอย่างมีประโยชน์แก่ประเทศอื่น แต่ประเทศของเรายังไม่จำเป็นก็ไม่ควรจัด เพื่อเป็นการประหยัดทรัพย์และเวลา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นห่วงว่า การจัดการศึกษาในเวลานั้นมุ่งส่งเสริมให้คนศึกษาเพื่อรับราชการเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นปัญหาทำให้ประชาชนละทิ้งอาชีพเดิมของตน ชาวต่างประเทศจะเข้ามาแย่งทำอาชีพเหล่านี้ได้ พระองค์ทรงเน้นเสมอว่า การจัดการศึกษาควรเป็นไปตามลักษณะพื้นเพของบุคคลนั้น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังทรงเห็นว่า จุดบกพร่องของการจัดการศึกษาของกรมศึกษาธิการในเวลานั้น ยังไม่เน้นเรื่องความประพฤติของนักเรียนจึงควรจัดให้มีการสอนศีลธรรมทุกระดับชั้น และควรจัดโรงเรียนฝึกสอนเป็นตัวอย่าง จัดให้มีการสอบความรู้ให้ประกาศนียบัตรไปพลางก่อน เมื่อการศึกษาสามารถดำเนินไปด้วยดี จึงจะประกาศเพิ่มทั่วประเทศ ให้จัดโรงเรียน และวิธีสอบความรู้ให้ได้มาตรฐานเหมือนประเทศอังกฤษ ทรงรับอาสาจัดโรงเรียนมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อสอนเป็นตัวอย่างด้วย (บุญธรรม อินทร์จันทร์ 2526 : 78)
5. แนวคิดทางการศึกษาของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (พ.ศ. 2445 – 2459) ได้เสนอแผนทางเดินการศึกษาของประเทศไทย โดยการแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระดับคือ ประถมศึกษา (3 – 9ปี) มัชฌิมศึกษา หรือมัธยมศึกษา (14 – 19 ปี) และปัจฉิมศึกษา (19 – 22 ปี) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกประการหนึ่งที่เรียกว่าการศึกษาพิเศษ ซึ่งหมายถึงการอาชีวศึกษาในปัจจุบัน ท่านได้วางปรัชญาการจัดการศึกษาและวิสามัญศึกษา โดยให้เหตุผลว่า ความรู้ด้านวิชาสามัญศึกษาจะเน้นเรื่องสอนให้รู้ผิดชอบชั่วดีอยู่ในศีลธรรม และรู้จักการงานที่อยู่รอบตัว ส่วนความรู้ด้านวิชาวิสามัญ เป็นวิชาที่สอนให้คนมีความรู้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง เช่น เป็นเสมียนก็ต้องมีความรู้วิชาเสมียน เป็นต้น นอกจากนี้ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งการฝึกหัดครูและเน้นในเรื่องคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นครูพิเศษ โดยให้แนวคิดเรื่องการสอนให้เป็นครู โดยท่านให้ข้อคิดเห็นว่า การเป็นครูนั้นจำเป็นต้องสอนวิชาศีลธรรมแก่นักเรียนทุกคน แม้ว่าจะไม่ใช่ครูที่ถูกกำหนดเวลาให้สอนตามหลักสูตรก็ตาม เพราะนักเรียนย่อมบกพร่องได้ทุกเวลา และย่อมพลาดพลั้งต่อหน้าครูทุกๆท่าน (บุญธรรม อินทร์จันทร์ 2526 : 79)
6. แนวคิดทางการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453 – 2468) ทรงเน้นว่าเป้าหมายของการศึกษาที่ทรงมุ่งหมาย คือ การเป็นพลเมืองดี มีจริยธรรม พระองค์มีความปรารถนาที่จะเห็นการศึกษาเป็นเครื่องมือทำให้เด็กเป็นยุวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยการบรรจุหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป พระองค์ทรงเห็นว่าการจัดการศึกษาจะต้องให้เหมาะสมกับสภาพของเมืองไทย ไม่ควรเอาแบบอย่างตะวันตกไปเสียทั้งหมด นอกจากนี้ การศึกษาควรสามารถเตรียมพร้อมเด็กที่จะรับภาระต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า จากแนวคิดทางการศึกษาของพระองค์นี้ กระทรวงธรรมการได้สนองโดยการผลิตหนังสือแบบเรียนต่างๆ ในสมัยนั้น เช่น หนังสือพลเมืองดี สมบัติผู้ดี บทดอกสร้อย นกกางเขน ฯลฯ พระองค์ท่านยังมีนโยบายที่จะจัดการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษาให้เป็นการศึกษาสำหรับชาติ คือ มุ่งที่เร่งจัดการศึกษาให้ราษฎรทั้งชายหญิงที่มีอายุในวัยเล่าเรียนทุกคน เพื่อให้ราษฎรรู้หนังสือทั่วประเทศโดยเร็ว และให้ได้เรียนหนังสือพอสมควรแก่อัตภาพ เพื่อออกไปประกอบอาชีพตามภูมิลำเนาของตน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีสติปัญญาดีมีทุนทรัพย์ได้โอกาสเรียนต่อขึ้นไปถึงชั้นสูงสุดได้ และรัฐยังมีทุนเล่าเรียนหลวงไว้ส่งเสริมผู้ที่มีสติปัญญาดีเลิศให้ได้ศึกษาต่อในระดับสูงในประเทศ และส่งไปศึกษาในต่างประเทศปีละหลายทุนอีกด้วย (นิรมล สวัสดิบุตร 2525 : 9)
7. แนวคิดทางการศึกษาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (พ.ศ. 2459 – 2469) ได้วางแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อให้การศึกษาแก่คนทั้งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายเด็กหญิง ลูกไพร่หรือลูกผู้ดี ให้สามารถได้รับโอกาสในการศึกษาตามอัตภาพของตน ท่านเปรียบการศึกษาเหมือนต้นไม้ ใครมีความสามารถปีนได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของตน นอกจากนี้ยังเชื่อในคุณค่าของคนที่พึงมีต่อสังคม จุดประสงค์สำคัญในการบริหารการศึกษาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี คือ มุ่งจัดการศึกษาเบื้องต้นแก่ทวยราษฎร์ให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้รวมทั้งการจัดสอนวิชาชีพหรือการงานในหลักสูตรระดับประถมศึกษาด้วย วิชาชีพที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเน้นหนักมาก คือวิชากสิกรรม โดยตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. 2450 เพื่อปลูกฝังให้ครูสามารถถ่ายทอดความรู้และทัศนะคติที่ดีต่อวิชาชีพด้านกสิกรรมได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้นักเรียนนำความรู้นั้นไปประกอบอาชีพกสิกรรมแทนการรับราชการแต่เพียงอย่างเดียว (นิรมล สวัสดิบุตร 2525 : 10)
8. แนวคิดทางการศึกษาของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร
แนวคิดทางการศึกษาของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร (พ.ศ. 2470 – 2517) ในส่วนที่สำคัญๆ พอสรุปได้ว่า การศึกษาที่ดีต้องให้ความรู้ที่ดี และเหมาะสมกับอัตภาพทางสติปัญญา และอัตภาพทางฐานะของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน เป็นเครื่องมือสร้างพลเมืองดี เพื่อให้พลเมืองดีเหล่านั้นช่วยกันสร้างชาติให้เจริญก้าวหน้า พระองค์ทรงเห็นว่า การจะได้พลเมืองที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ จะต้องมีครูที่นับถือตนเองและศรัทธาในอาชีพครูเป็นผู้ที่ให้การศึกษาแก่นักเรียน เพราะนอกจากครูต้องอบรมนักเรียนให้ดีทั้งวิชาการความรู้ ความประพฤติและสุขภาพอนามัยแล้ว ยังเป็นตัวอย่างสำหรับเด็กนักเรียนทั้งในด้านการเป็นผู้มีความรู้รอบดี (รู้รอบ-ไม่ใช่รู้แต่เรื่องวิชาการ ทรงใช้คำว่าเป็นผู้กว้างขวางในการพินิจพิเคราะห์ ซึ่งหมายถึงการวิสาสะที่ชอบ ต้องรู้เห็นกิจการที่เป็นไปในโลกมากๆ ต้องคบคนทั่วๆไป และต้องสังเกตกิจกรรมที่เป็นไปรอบๆตัว) หาความรู้อยู่เสมอ มีคุณธรรมทั้งในทางปฏิบัติส่วนตัวและทางที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน แม้ว่าการเป็นครูจะต้องเหนื่อยยาก เนื่องจากต้องใช้เวลาในการอบรมสั่งสอนศิษย์ แต่ถ้าได้พยายามทำความดีจนสุดความสามารถแล้วก็นับว่าได้ช่วยชาติ นอกจากนี้ยังทรงเล็งเห็นว่าการศึกษาที่นอกเหนือจากการศึกษาภาคบังคับเปรียบดังสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งผู้ต้องการสินค้านั้นต้องเสียเงินซื้อหามาเอง รัฐบาลไม่จำเป็นต้องให้เรียนฟรี โดยเฉพาะในขณะที่รัฐบาลมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีพอ (นิรมล สวัสดิบุตร 2525 : 12)

9. นวคิดทางการศึกษาของ ม.ล. ปิ่น มาลากุล
ม.ล. ปิ่น มาลากุล (พ.ศ. 2502 – ปัจจุบัน) มีความคิดเห็นว่าการศึกษาเป็นการสร้างคนไว้ทำกิจการของประเทศชาติในภายหน้า ประชาชนมีนิสัยดีหรือเลวเป็นส่วนมากในสมัยใดย่อมเป็นผลของการจัดการศึกษาเมื่อประมาณ 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลที่เห็นการณ์ไกลควรต้องส่งเสริมการศึกษาให้มาก และควรกระจายการศึกษาไปสู่ภูมิภาคให้ทั่วถึง เพื่อป้องกันนักเรียนมาแออัดก่อปัญหาในเมืองหลวง และยังเป็นผลให้คนดีมีปัญญาอยู่พัฒนาถิ่นกำเนิดของตนเอง นอกนี้ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ยังให้แนวความคิดด้านอุดมศึกษาไว้ว่าควรจัดมหาวิทยาลัยให้เป็นแบบ Residential University หรือ College System เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่พักอาศัย ทั้งยังทำให้อาจารย์และนิสิตมีความใกล้ชิดกัน เพื่อความสะดวกในการปกครองดูแลนิสิตอีกด้วย (นิรมล สวัสดิบุตร 2525 : 14)
10. แนวความคิดทางการศึกษาของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์
ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ (พ.ศ. 2507 – ปัจจุบัน) มองการศึกษาในฐานะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ซึ่งหมายรวมทั้งพัฒนาผู้ที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาและผู้ที่พ้นวัยการศึกษาแล้ว ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาก็คือ เด็กที่ควรจะได้รับการศึกษาภาคบังคับ ที่รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะอำนวยให้ทั่วถึงกัน ส่วนผู้ที่พ้นวัยแล้วนั้น หมายถึงพวกที่พลาดการศึกษาในภาคบังคับจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม พวกนี้ควรได้รับการดูแลจากรัฐบาลโดยผ่านทางการศึกษาผู้ใหญ่ โครงการพัฒนาชนบท และการฝึกอาชีพต่างๆ ในการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้ผลเต็มที่นั้น ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้วางแนวความคิดทางการศึกษาไว้ดังต่อไปนี้
ในระดับการศึกษาภาคบังคับ จุดมุ่งหมายน่าจะอยู่ที่การอ่านออกเขียนได้ของผู้เรียน รวมทั้งมีความคิดอ่านของตนเอง สามารถถือประโยชน์จากบริการของรัฐบาลได้ ส่วนหลักสูตรนั้นควรยืดหยุ่นได้ตามความต้องการ และตามความเหมาะสมของท้องถิ่น และเป็นหลักสูตรแบบการกระจายจากศูนย์กลาง ในระดับการศึกษา 2 และ 3 ที่จัดให้ผู้ที่พลาดการศึกษาในระดับภาคบังคับ จุดมุ่งหมายคือ ติดตามให้ความรู้แก่เด็กที่พ้นวัยการศึกษาภาคบังคับ ให้ความรู้แก่เขาในการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะสามารถช่วยตนเองได้ หลักสูตรก็ควรจะเป็นการฝึกอาชีพ โดยเฉพาะการเกษตรและช่างฝีมือ ส่วนระดับการศึกษาชั้นมัธยมนั้น ควรมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการคือ 1) ให้ผู้เรียนมีความรู้ทางวิชาการแตกฉานพอสมควร และ 2) จัดการศึกษาให้นักเรียน 2 พวก คือ พวกที่จะออกไปประกอบอาชีพและพวกที่จะเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ให้ความสำคัญอย่างมากในการจัดโรงเรียนมัธยมแบบประสม โดยกล่าวว่าปัจจุบันงานทุกแห่งต้องอาศัยความรู้ด้านวิชาชีพด้วย รู้แต่หนังสืออย่างเดียวคงไม่พอ
สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น มีความสำคัญน้อยกว่าการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพราะเป็นการศึกษาที่จัดให้แก่คนส่วนน้อย แต่ก็เป็นการศึกษาที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ควรมี 3 ประการ คือ อบรมให้ผู้เรียนเป็นปัญญาชนทั้งวิชาการและวิชาโลก มีวิชาชีพระดับสูง ประกอบอาชีพได้และก้าวหน้าทันต่อเหตุการณ์ นำหน้าเหตุการณ์เสมอ หลักสูตรนั้นให้เป็นทั้งวิชาการและวิชาชีพประกอบกัน ให้ลึกในด้านวิชาชีพและกว้างในด้านวิชาพื้นฐาน การจัดการศึกษาแบบนี้แตกต่างไปจากของต่างประเทศซึ่งจัดแบบกว้างในสายวิชาชีพ ไปเน้นลึกในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก แต่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่อาจจะลงทุนในระดับสูงๆได้ จึงควรทำให้การศึกษาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศมากที่สุด (นิรมล สวัสดิบุตร 2525 : 17)
จะเห็นว่าแนวคิดทางการศึกษาของไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตก แต่ได้นำมาดัดแปลงให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยบ้าง อิทธิพลจากแนวคิดทางพุทธศาสนาบ้าง แต่อย่างไรก็ตามอิทธิพลแนวความคิดจากประเทศตะวันตก เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการจัดการศึกษาของประเทศในปัจจุบัน
ทิศทางสังคมไทยในยุคโลกานุวัตร
สังคมไทยในยุคโลกานุวัตรมีประเด็นศึกษาสำคัญอยู่ 7 ประเด็น
1. สังคมไทยกำลังเผชิญกับพหุลักษณะด้านวัฒนธรรม (Cultural Pluralism)
กระบวนการโลกานุวัตรมีส่วนในการเร่งทำให้เกิดความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม (Cultural Diversity) และเมื่อมีความแปลกปลอมเข้าสู่สังคมไทยย่อมมีความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งเกิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา กระบวนการอเมริกานุวัตรของวัฒนธรรมโลก (Americanization of Global Culture) แผ่อิทธิพลของวัฒนธรรมอเมริกันไปสู่สังคมโลก อิทธิพลของวัฒนธรรมอเมริกันในระบบทุนนิยมโลกถูกส่งเสริมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ สังคมไทยปัจจุบันนอกจากเผชิญปัญหาความเป็นอเมริกันของวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังเผชิญกับระบบจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Imperialism) ผลกระทบจากการเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมอันหลากหลายจะเป็นอย่างไร ผลกระทบสำคัญมีอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก วัฒนธรรมชุมชนกำลังล่มสลาย ไม่อาจอยู่รอดได้ถ้าไม่มีการปรับตัว ความรุนแรงและความขัดแย้งในสังคมจะมีมากขึ้น เนื่องจากการปะทะกับวัฒนธรรมต่าง ๆ ประการที่สอง ที่สำคัญมากคือ ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในเวลานี้มีกระบวนการลอดรัฐ มีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทย มีการอพยพแรงงานจากประเทศอื่นเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมกับมีการเคลื่อนย้ายวัฒนธรรมด้วย
พหุลักษณะด้านวัฒนธรรมก่อให้เกิดปัญหาในการจัดการศึกษาหลายประการ ในประการแรก ระบบการศึกษาไทยจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับพหุลักษณะทางวัฒนธรรม ประการที่สอง หากไม่ต้องการพหุลักษณะทางวัฒนธรรม สมควรที่จะใช้ระบบการศึกษาในการปรับเปลี่ยนพหุลักษณะดังกล่าวหรือไม่ และอย่างไร ประการที่สาม จะจัดการศึกษาเพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติได้อย่างไร ท้ายที่สุด การลอดรัฐของแรงงานต่างชาติทำให้มีความจำเป็นในการจัดการศึกษาเพื่อชนกลุ่มน้อยมากขึ้นหรือไม่
2. กระบวนการอัสดงคตานุวัตรมีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาไทยมากขึ้น (Westernization of the Thai Education System) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดระเบียบการค้าบริการโดยเสรีภายใต้องค์การการค้าโลก ซึ่งเกื้อกูลให้ชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนในภาคการศึกษา อีกส่วนหนึ่งเป็นความต้องการของผู้นำไทยที่อยากได้ประโยชน์จากกระบวนการโลกานุวัตร การเข้ามาของทุนสากล ประสานกับความต้องการของผู้นำไทย ทำให้อัสดงคตลักษณะของระบบการศึกษาไทยมีมากขึ้น คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า ระบบโรงเรียนไทยจะปรับตัวอย่างไร เพื่อแข่งขันกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนานาชาติในอนาคต
กระบวนการโลกานุวัตรของระบบศึกษาโลกานุวัตรของระบบการศึกษาแต่เดิมถูกกำหนดโดยพลังทางการเมืองระหว่างประเทศ ประเทศมหาอำนาจสามารถแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองไปครอบงำสังคมประเทศอื่น ๆ ด้วยการนำระบบโรงเรียนหรือระบบการศึกษาของตนไปฝังไว้ในดินแดนที่เป็นบริวาร ในปัจจุบันกระบวนการโลกานุวัตรของการศึกษาถูกกำหนดโดยอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น เมื่อประเทศอังกฤษเป็นผู้นำระบบทุนนิยมโลก ระบบการศึกษาของอังกฤษปกแผ่ไปทั่วโลก ระบบการศึกษาของอังกฤษถูกนำไปใช้ในประเทศอาณานิคม แม้แต่จุฬาลงกณ์มหาวิทยาลัยสมัยแรก ๆ จัดระบบการศึกษาแบบอังกฤษโดยพื้นฐาน ส่วนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจัดระบบการศึกษาแบบฝรั่งเศสในตอนต้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกากลายมาเป็นผู้นำโลก การจัดระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดปรับเปลี่ยนเป็นระบบอเมริกัน รวมทั้งระบบโรงเรียนด้วย ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงผู้นำหรือศูนย์อำนาจในระบบทุนนิยมโลกจะทำให้กระแสโลกานุวัตรของการศึกษาเปลี่ยนแปลงด้วย
3. การเปลี่ยนแปลงกระบวนการสากลานุวัตรของภาษาโลก (Internationalization of Global Languages) มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษาแต่เดิมความเป็นสากลของภาษาถูกกำหนดโดยปัจจัยธรรมชาติ ดังเช่นการเพิ่มขึ้นของประชากรและการอพยพของประชากร ต่อมาอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศมีความสำคัญในการกำหนดภาษาสากลมากขึ้น ภาษาของประเทศมหาอำนาจมักจะเป็นภาษาสากล อย่างน้อยที่สุดประเทศอาณานิคมตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาษาเมืองแม่ ระบบจักรวรรดินิยมจึงมีบทบาทในการกำหนดภาษาสากล ดังกรณีภาษาละติน โรมัน สเปน ปอร์ตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ในปัจจุบันอำนาจทางเศรษฐกิจและเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ มีความสำคัญมากขึ้น
ภาษาอังกฤษจะยังคงสามารถธำรงความเป็นสากลสืบต่อไปได้ตราบนานเท่านาน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศยิ่งเสริมส่งความเป็นสากลของภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่น จะทำให้มีการใช้ภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นแพร่หลายมากกว่าเดิม ภาษาอาหรับจะธำรงความเป็นภาษาสากล เนื่องเพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศที่ใช้ภาษาอาหรับสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอีกด้านหนึ่ง ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ปอร์ตุเกส และฮอลันดาจะสูญเสียฐานสัมพัทธ์ในกระบวนการสากลานุวัตรของภาษาโลก
ผลกระทบของกระบวนการสากลานุวัตรของภาษามี อยู่อย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก ภาษาต่างประเทศจะเข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาไทยมากขึ้น ภาษาไทยจะมีความเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น
ประการที่สอง ลักษณะอิเล็กทรอนิกส์ของภาษาไทยจะปรากฏมากยิ่งขึ้น ภาษาของไมโครอิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยมากขึ้น ภาษาไทยจะห้วนสั้น คำบางคำถูกหั่นให้สั้นลง แนวความคิดว่าด้วยความสละสลวยของภาษาจะเปลี่ยนแปลงไป
คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า เราจะจัดระบบการศึกษาอย่างไรท่ามกลางกระบวนการสากลานุวัตรของภาษาโลก ทางเลือกในประเด็นนี้มีอยู่อย่างน้อย 2 แนวทาง แนวทางหนึ่ง ได้แก่ การเร่งกระบวนการสากลานุวัตรของภาษาโลก ด้วยการจัดการเรียนการสอนภาษาสากลในระบบโรงเรียน โดยเน้นภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ อีกแนวทางหนึ่ง ได้แก่ การละเลยความสำคัญของภาษาสากล
4. การครอบงำของทุนวัฒนธรรม (Cultural Capital) ทุนวัฒนธรรมจะกลายเป็นทุนหลัก (Dominant Capital) ในอนาคต พัฒนาการของระบบทุนนิยมโลกเสริมส่งการแปรวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า (Commodification) อันเป็นเหตุให้ระบบทุนนิยมวัฒนธรรม (Cultural Capitalism) ก่อเกิดและเติบโต ความสำคัญของทุนวัฒนธรรมมีมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เป็นผลจากอิทธิพลของสื่อมวลชนโลก (Global Media) และกระบวนการสากลานุวัตรของการโฆษณา (Internationalization of Advertising) การเติบใหญ่ของทุนวัฒนธรรมมีผลต่อการเติบใหญ่ของลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) กระบวนการแปรในการบริโภค
คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า เราจะจัดการศึกษาเพื่อลดทอนอิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยมได้อย่างไรในโลกที่ทุนวัฒนธรรมเป็นทุนหลัก
5. การทำลายจริยธรรมในการงาน (Work Ethics) การหารายได้โดยไม่ต้องใช้หยาดเหงื่อมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหารายได้จากการเก็งกำไร ดังเช่นการเก็งกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ตึกอาคาร คอนโดมิเนียม ศิลปวัตถุหรือพระพุทธรูป จริยธรรมในการทำงานจะเสื่อมทรามลง การหารายได้อาจเป็นไปโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า เราจะจัดการศึกษาอย่างไรเพื่อปลูกฝังจริยธรรมในการงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้
6. ความเป็นสินค้าของสรรพสิ่ง (Commodification) โลกกำลังเปลี่ยนให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นสินค้า แม้แต่บทสัมภาษณ์ยังเป็นสินค้า งานวิจัยกำลังเป็นสินค้า การให้คำปรึกษาเป็นสินค้า บริการการศึกษาจะยิ่งเป็นสินค้ามากขึ้นในอนาคต กระบวนการที่ทำให้สรรพสิ่งกลายเป็นสินค้าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ในระบบการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ครูอาจารย์จะเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร
7. ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client Relationship) กำลังแปรเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ภายใต้ระบบพันธสัญญา (Contractual Relationship) ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ (Non-Formal Relationship) กำลังแปรเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ (Formal Relationship) การทำสัญญาการประกอบการเกษตร (Farming Contract) ไปจนถึงสัญญาการแต่งงาน (Marriage Contract) ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบพันธสัญญากำลังรุกคืบเข้าไปแทนที่ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ในระบบการศึกษาไทย


สรุปแนวคิดทางบริหารการศึกษาที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาของไทย
การศึกษาในสังคมปัจจุบันโดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากสังคมตะวันตก จากแนวคิดของนักปรัชญาทางการศึกษาที่มุ่งพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคคลให้สามารถมีชีวิตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ มีคุณภาพสามารถปรับตัวได้อย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคม โดยสามารถสร้างสรรค์สังคมและพัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้า
จะเห็นว่าแนวคิดทางการศึกษาของไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตกแต่ได้นำมาดัดแปลงให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย โดยมีอิทธิพลจากแนวคิดทางพุทธศาสนาบ้าง แต่อย่างไรก็ตามอิทธิพลแนวความคิดจากประเทศตะวันตก เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการจัดการศึกษาของประเทศในปัจจุบัน
สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น มีความสำคัญน้อยกว่าการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพราะเป็นการศึกษาที่จัดให้แก่คนส่วนน้อย แต่ก็เป็นการศึกษาที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา
จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ควรมี 3 ประการ คือ อบรมให้ผู้เรียนเป็นปัญญาชนทั้งวิชาการและวิชาโลก มีวิชาชีพระดับสูง ประกอบอาชีพได้และก้าวหน้าทันต่อเหตุการณ์ นำหน้าเหตุการณ์เสมอ หลักสูตรนั้นให้เป็นทั้งวิชาการและวิชาชีพประกอบกัน ให้ลึกในด้านวิชาชีพและกว้างในด้านวิชาพื้นฐาน การจัดการศึกษาแบบนี้แตกต่างไปจากของต่างประเทศซึ่งจัดแบบกว้างในสายวิชาชีพ ไปเน้นลึกในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก แต่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่อาจจะลงทุนในระดับสูงๆได้ จึงควรทำให้การศึกษาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศมากที่สุด
การจัดการศึกษาสมัยใหม่ของไทย โดยยึดถือหลักปรัชญาและความเชื่อที่ว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือ และเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และด้วยเหตุที่มนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ดังนั้นการพัฒนาประเทศให้เจริญนั้น จึงจำเป็นต้องเน้นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญ
การปฏิรูปการศึกษาโดยยึดหลักการ “การศึกษาเพื่อการศึกษา” แต่เพียงโสดเดียว มิอาจเกื้อกูลให้ประชาราษฎรเห็นอานิสงส์ของการศึกษาได้ สมควรที่รัฐบาลจักต้องเน้นหลักการ “การศึกษาเพื่อชีวิต” การศึกษาจักต้องเกื้อกูลให้ ประชาชนมีชีวิตที่ดี สามารถจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ และสามารถแก้ปัญหาทุกด้านที่เผชิญในชีวิตปัจจุบันได้ ด้วยเหตุดังนี้ นักการศึกษาจึงเสนอหลักการ “การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาทั้งมวล” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Education for All Problems
แม้ราษฎรจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา แต่ขีดจำกัดของรัฐบาลทำให้รัฐบาลมิอาจจัดการศึกษาเพื่อประชาชนทั้งมวลแต่โดยลำพัง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรจำกัดเป้าหมายในการจัดการศึกษาเฉพาะคนจนและคนเก่ง โดยที่ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปการศึกษาด้วย
หลักการพื้นฐานของการปฏิรูปการศึกษา กล่าวโดยสรุปก็คือ
(1) หลักการ “การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” (Education for All)
(2) หลักการ “การมีส่วนร่วมของสังคมทั้งมวลในการจัดการศึกษา” (All for Education)
(3) หลักการ “การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาทั้งมวล” (Education for All Problems)

การศึกษาแบบองค์รวมในประเทศไทย
อาจกล่าวได้ว่าเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปการศึกษาในปี 2542 และได้รับความสนใจในฐานะที่เป็นการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) มาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในระบบและนอกระบบและมีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย รวมทั้งกรณีของบ้านเรียน (Home School) ด้วย โดยมีลักษณะร่วม คือการให้ความสำคัญของผู้เรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น และความสำคัญของสาระวิชาตามหลักสูตรเป็นรอง รวมทั้งปรับเปลี่ยนบทบาทของครู จากการกำกับการเรียนโดยสิ้นเชิง มาเป็นผู้นำพานักเรียนสู่การเรียนรู้เชิงประจักษ์ สัมผัสประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง ผ่านการปฏิบัติกิจกรรมและการงานจริงมากขึ้น ต่อมาจึงเกิดแนวคิดของ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ขึ้น ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแม้จะเริ่มจากแนวคิดแบบองค์รวมแต่เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติในระดับสถานศึกษากลับคลาดเคลื่อนไปจากจุดมุ่งหมายและไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้จริงในสถานศึกษาส่วนใหญ่ เพราะบุคลากรทางการศึกษา คือ ครูและผู้บริหาร ยังมิได้ปรับเปลี่ยนบทบาททัศนคติและวิธีการบริหารจัดการให้เอื้ออำนวยต่อกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ทำให้เห็นรากฐานของปัญหาการศึกษาได้ชัดเจนขึ้น
ในขณะเดียวกัน กระแสการศึกษาแนวใหม่ก็เริ่มเกิดขึ้นในสถานศึกษาหลายแห่งทั้งแบบที่เป็นการริเริ่มนวัตกรรมของการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ เช่น Montessori และ Waldolf เป็นต้น
รวมทั้งกรณีของโรงเรียนแนวพุทธธรรม ซึ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของตนเอง ให้สามารถบูรณาการ คุณธรรม/หลักไตรสิกขาลงสู่หลักสูตรสาระวิชาต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทั้งสองกรณีนี้หากเกิดขึ้นจากความพยายามของสถานศึกษาเอง มิได้เกิดจากการปฏิบัติตามคำสั่งต้นสังกัดก็จะพบว่ามีการปรับเปลี่ยนทั้งโรงเรียนและต่อเนื่องจนกระทั่งได้กลายมาเป็นโครงการทดลองในการปฏิรูปการศึกษาของรัฐในระดับปฏิบัติด้วย นั่นคือ School-based Development เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การศึกษาแบบองค์รวมจึงมิได้เป็นเพียงการศึกษาทางเลือกนอกระบบเท่านั้น ด้วยคุณสมบัติที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็ก ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนแตกต่างจากเดิม จึงแพร่หลายและได้ถูกนำไปทดลองใช้ในบริบทของโรงเรียนต่าง ๆ มากขึ้น
ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ นักคิด นักการศึกษาของไทยซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้หลักการและแนวทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคม เพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งหลายอันเนื่องมาจาก ระบบการศึกษาที่ไม่อาจสร้างหรือพัฒนาคนให้รู้รอบนั้น จึงเป็นส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองปัญหาอย่างเชื่อมโยง และมาตั้งต้นที่ระบบการศึกษาแบบองค์รวมนั่นเอง ดังเช่น
1. แนวคิดของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ที่เปิดมุมมอง การศึกษา คือ ชีวิตบุพภาคของการศึกษา (กัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ) ตลอดจนระบบการศึกษาวิถีพุทธ ไตรสิกขา
2. แนวคิดของศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ซึ่งได้ให้แนวทางการศึกษาเพื่อแก้วิกฤตสังคมไทยไว้แทบทุกมิติ ที่จะนำไปสู่การศึกษาแบบองค์รวม
3. แนวคิดของศาสตราจารย์ กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ได้เป็นผู้ประพันธ์ตำราการบูรณาการทางการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยมีรายละเอียดที่อิงหลักพุทธธรรมและรูปธรรมของการปฏิบัติที่หลากหลายด้วย
บทบาทหน้าที่ของการศึกษาที่มีต่อสังคม
การศึกษาเป็นกิจกรรมที่สังคมสร้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเยาวชนและประชาชนในระยะแรกๆ ที่มีการจัดการศึกษาเป็นระบบชั้น การศึกษามักทำหน้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมแก่เยาวชนเป็นการสำคัญ เมื่อการศึกษาได้พัฒนาขึ้นแล้ว การศึกษาก็ได้ทำหน้าที่ให้บริการสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ บทบาทหน้าที่ของการศึกษาที่มีต่อสังคม พอจะอธิบายได้ดังนี้
1. ถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
2. ให้การขัดเกลาทางสังคมให้สมาชิกของสังคมปรับตัวเข้ากับสังคมได้ด้วยดี
3. สร้างและถ่ายทอดนวัตกรรมเทคโนโลยี และความรู้เฉพาะทาง ได้แก่ การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นองค์แห่งความรู้และศาสตร์ต่างๆ
4. เลือกสรรและกำหนดตำแหน่งทางสังคมให้แก่บุคคล สถาบันการศึกษาจะคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบการศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาจะได้สถานภาพและงาน ตามความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามา
5. ดูแลเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
6. พัฒนาบุคลิกภาพของสมาชิกตามความชอบและความถนัดของบุคคล
7. ผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ ขัดเกลาหล่อหลอมให้สมาชิกของสังคมมีความเชื่อในอุดมการณ์ ค่านิยม และวัฒนธรรมตามที่ผู้นำสังคมต้องการ
8. ฝึกฝนวิชาชีพ และวิธีประกอบอาชีพให้แก่สมาชิกของสังคม
ด้วยเหตุนี้การศึกษาจะต้องเกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม และมีหน้าที่หลายประการจึงมีการมองการศึกษาในรูปแบบต่างๆ กัน นักสังคมวิทยามองว่าการศึกษาเป็นสถาบันสังคมเพราะการศึกษามีแบบแผน มีองค์กรรับผิดชอบ มีการจัดงานเป็นระบบ มีกฎหมายรองรับ และสมาชิกในสังคมถือว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นักรัฐศาสตร์มองว่า การศึกษาเป็นองค์กรของรัฐที่ใหญ่โต มีระบบงานกว้างใหญ่ขยายกิจการไปทุกส่วนของประเทศ มีจำนวนบุคลากรมากที่สุด ให้บริการประชากรจำนวนมากที่สุด ใช้งบประมาณมาก นักการจัดการมองว่า การศึกษาเป็นระบบงานที่ปฏิบัติหน้าที่ที่สังคมมอบหมายให้ มีปัจจัยในการผลิตกิจการ มีกระบวนการปฏิบัติงานโดยเฉพาะทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นเมื่อการศึกษาได้รับการมองในหลายๆ ทรรศนะ จึงน่าจะพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วนต่อไปว่า การศึกษาของไทยได้มีการยึดแนวคิดและจัดการศึกษาอย่างไร และทำหน้าที่ตอบสนองตามที่สังคมต้องการได้อย่างแท้จริงได้เพียงใด หรือไม่
ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้
จากการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความจำเป็น
อย่างเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมเด็กให้เหมาะสมสำหรับการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้ดังนี้ คือ
1. ในด้านบทบาทของประเทศไทยนั้น การจัดการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับต่าง ๆ
ควรจะต้องเตรียมประชาชนคนไทยในฐานะที่จะเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในฐานะพลโลกเพราะในปัจจุบันนี้สามารถติดต่อกันได้รวดเร็ว และผลกระทบของประเทศหนึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการสื่อสารและคมนาคมที่ทันสมัย
2. ในด้านเศรษฐกิจ จะเห็นว่าประเทศไทยเรามีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการลงทุน
ขนาดใหญ่ ทั้งการลงทุนของต่างชาติ และภายในประเทศเองทำให้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถติดตามความเจริญทางด้านเศรษฐกิจทั้งของประเทศและของโลกได้ทัน
3. ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้เกิดความ
จำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ในด้านนี้แก่เยาวชนของชาติ ตั้งแต่ในระดับประถมศึกษา เพื่อเป็นการปูพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับศึกษาต่อในระดับที่สูงยิ่งขึ้น มิฉะนั้นจะทำให้ไม่สามารถติดตามวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงได้ทันในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นผลต่อประเทศชาติในอนาคตได้
4. ในด้านการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เลวลง จนมีผลเสียต่อสภาวะทางธรรมชาติ
ทำให้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ และปลูกฝังความสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวให้คงอยู่หรือดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะต้องอาศัยระยะเวลาในการกระทำดังกล่าว การให้ความรู้และปลูกฝังเจตคติตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ ดังกล่าวได้
5. ในด้านการเมืองการปกครองเพื่อความมั่นคงของประเทศ ควรเร่งให้ความรู้ด้านการเมือง
การปกครองแก่ประชาชน สร้างความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตน ในฐานะสมาชิกในระบอบประชาธิปไตย
6. ด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่จะต้องเร่งรณรงค์เพื่อปลูกฝังในตัวเยาวชน
ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในสังคมไทย

บทที่ 3
แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารและการปฏิบัติงานต่างๆที่ได้รับความสนใจ

แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารและการปฏิบัติงานต่างๆ ที่ได้รับความสนใจในหน่วยงานเอกชนรัฐวิสาหกิจ และในหน่วยราชการ ตลอดจนการศึกษาในยุคปัจจุบัน มี 5 ประเภท คือ
1.การบริหารที่ยึดวัตถุประสงค์เป็นตัวกำหนด (Management by Objectives : MBO)
2.ระบบการควบคุมคุณภาพ หรือกลุ่มคุณภาพ (Quality Control Circle : Q.C.C.)
3.ทฤษฏี Z (Theory Z)
4.การสร้างทีมงาน (Team Building)
5.การรื้อปรับระบบ (Reengineering)
1.การบริหารที่ยึดวัตถุประสงค์เป็นตัวกำหนด (Management by Objectives : MBO)
การกำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการดำเนินการสู่จุดหมายปลายทาง (mean-end approach) อันเป็นประโยชน์ในการชี้ทิศทาง และช่วยกระตุ้นการตัดสินใจดำเนินการได้อย่างแจ่มชัด ก่อผลดีให้เกิดขึ้นแก่องค์การ คือ
1.มีเอกภาพด้านการวางแผน
2.เป็นวิธีที่นำไปสู่การกระจายอำนาจ
3.กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน
4.เป็นเครื่องมือในการควบคุม
ลำดับขั้นตอนในการบริหารที่ยึดวัตถุประสงค์เป็นตัวกำหนด (Steps in Managing by Objectives)
1.กำหนดวัตถุประสงค์ (Setting of Objectives) เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ได้ตรงตามความต้องการ และชัดเจน
2.ปรับโครงสร้างขององค์การ (Revision of Organization Structure) เพื่อเอื้อและอำนวยให้การปฏิบัติงานของสมาชิกในองค์การเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งต่างๆ ในองค์การอย่างชัดเจน
3.กำหนดจุดตรวจสอบ (Establishing Check Points) เพื่อประเมินผลความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน ได้ตรงตามเป้าหมายในมาตรฐานที่กำหนดขึ้น
4.การประเมินการปฏิบัติงาน (Appraisal of Performance) เพื่อทราบถึงผลการปฏิบัติงานตรงตามเกณฑ์มาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ และช่วยปรับปรุงการปฏิบัติงานในอนาคต
2.ระบบการควบคุมคุณภาพ หรือกลุ่มคุณภาพ (Quality Control Circle : Q.C.C.)
Q.C.C. เป็นวิธีการบริหารโดย Dr. Deming (ชาวอเมริกัน) นำไปถ่ายทอดในประเทศญี่ปุ่น และได้รับความนิยม โดยเรียกว่า วัฏจักรเดมิ่ง (Deming Circle) ซึ่งประกอบด้วยหัวใจหลัก PDCA
1.การวางแผน (Plan)
2.การปฏิบัติ (Do)
3.การตรวจสอบ (Check)
4.การแก้ไขปรับปรุง (Action)
Q.C.C. หมายถึง กิจกรรมที่ดำเนินการโดยคนกลุ่มน้อย ณ สถานที่ปฏิบัติงานเดียวกัน รวมตัวกันโดยความสมัครใจ โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับต้น (First Line Supervisor) เป็นแกนกลางเพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับการปรับปรุงงานโดยตนเองอย่างเป็นอิสระ แต่ต้องไม่ขัดต่อนโยบายหลักขององค์การ
ระบบการควบคุมคุณภาพ หรือกลุ่มคุณภาพ (Q.C.C.) ย่อมาจาก
Q คือ คุณภาพ (Quality) ในหลัก 3 ด้าน คือ คุณภาพชีวิต, คุณภาพสภาพแวดล้อม, คุณภาพงาน
C คือ การควบคุม (Control) เป็นการบังคับ กระทำให้คุณภาพ 3 ด้านข้างต้น อยู่ในระดับที่คาดหวัง หรืออยู่ในระดับมาตรฐานที่ควรจะเป็น
C คือ วงจร (Circle) เป็นกระบวนการ หรือวงจรควบคุมคุณภาพ
3.ทฤษฏี Z (Theory Z)
อูชิ (William G. Ouchi) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย UCLA (University of California Los Angeles) รวมเอาหลักการของทฤษฎี X , Y เข้า ด้วยกัน แนวความคิดสำคัญ 3 ประการก็คือ
1.คนในองค์การต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน (Trust)
2.คนในองค์การต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Subtlely)
3.คนในองค์การต้องมีความใกล้ชิด หรือความเป็นกันเอง (Intimacy)
ลักษณะสำคัญของ Theory Z
1.ระยะเวลาการจ้างงาน เป็นไปตลอดชีวิต
2.การประเมินและการเลื่อนตำแหน่ง ไม่ต้องรอระยะเวลา 10 ปี
3.ลักษณะงานอาชีพ ต้องรู้หลายๆ ด้าน
4.การบริหาร ใช้ระบบ MBO การควบคุมการบริหารเป็นแบบอเมริกัน
5.การตัดสินใจ มีทั้งแบบรวมอำนาจ และกระจายอำนาจ (Explicit and Implicit)
6.การทำงานและมนุษยสัมพันธ์ในองค์การ มีอิสระเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพเท่าเทียมกันยึดหลัก Trust, Subtlety และ Intimacy

4.การสร้างทีมงาน (Team Building)
เป็นการรวมตัวกันขึ้นเพื่อทำงาน โดยอาศัยกระบวนการด้วยความร่วมมือ ลดการขัดแย้ง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายขององค์การนั้นๆ
กระบวนการในการสร้างทีมงาน
1.ประชุมอธิบาย อภิปราย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจ เป้าหมาย ระยะเวลาการทำงานที่ต้องรับผิดชอบ
2.อภิปรายความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก โดยกล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ แผนการจัดระบบงาน ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ของระบบ
3.พัฒนากลไก การติดต่อสื่อสารภายในทีมให้มีประสิทธิภาพ
4.ดำเนินการวางแผน พัฒนาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับงาน ให้แก่สมาชิกในทีม รวมทั้งการละลายพฤติกรรม การถือเขาถือเราให้มาเป็นการยอมรับ และเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
5.ประชุม ติดตามผลการทำงานเป็นทีม เป็นระยะเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันสถานการณ์
5.การรื้อปรับระบบ (Reengineering)
เป็นการที่ผู้บริหารระดับสูง คิดทบทวนถึงรากฐานที่แท้จริงขององค์การ และออกแบบกระบวนการในองค์การทั้งหมดใหม่ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการปรับปรุงครั้งยิ่งใหญ่ โดยสามารถวัดผลได้ชัดเจนในเรื่อง ต้นทุน คุณภาพ บริการ และความรวดเร็ว จากแนวคิด 3Cs ซึ่งประกอบด้วย
1.Customers คือ การสนองตอบความต้องการของลูกค้า
2.Competition คือ การอยู่ได้ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและเข้มข้น
3.Change คือ การเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมเพื่อประสิทธิผลอันยั่งยืน
หลักการในกระบวนการรื้อปรับระบบ
1.รวมงานหลายประเภท เข้าด้วยกันให้เห็นเป็นหนึ่งเดียว
2.พนักงานเป็นผู้ตัดสินใจ
3.ขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการทำงานเป็นไปตามธรรมชาติ
4.กระบวนการทำงานมีหลายวิธี
5.ต้องยึดการทำงานในส่วนที่มีความหมายมากที่สุด
6.การควบคุมและการตรวจสอบลดลง
7.ปรับขั้นตอนต่างๆ ของงานให้น้อยลง
8.ผู้บริหารเฉพาะกรณี จะเป็นจุดในการติดต่อประสานงาน
9.ผสมผสานระหว่างการบริหารที่ยึดหลักการรวมอำนาจ กับการกระจายอำนาจ
บทที่ 4
พัฒนาการของทฤษฎีการบริหาร
ทฤษฎีการบริหารได้มีวิวัฒนาการเป็นตอนต่าง ๆ ระหว่างศตวรรษที่ 20 ในแต่ละขั้นตอนได้มีการกล่าวถึงลักษณะต่าง ๆ ของแนวความคิดของการบริหารที่แตกต่างกันไปแต่ก็สามารถกล่าวได้ว่า จากวิวัฒนาการความเป็นมาของทฤษฎีการบริหาร สามารถแบ่งทัศนะการบริหารออกเป็น 4 ทัศนะ
1. ทัศนะการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ (1910-1935) (The Scientific Management Point of View)
2. ทัศนะเชิงมนุษย์สัมพันธ์ (1935-1950) (The Human Relationships Point of View)
3. ทัศนะเชิงพฤติกรรมศาสตร์ (1950-1970) (The Behavior Point of View)
4. ทัศนะวิธีเชิงระบบ (1970-ปัจจุบัน) (The Systems Approach Point of View)
1.ทัศนะการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ (1910-1935) (The Scientific Management Point of View)
เป็นทัศนะของ Frederick W. Taylor ซึ่งถือว่า เป็นบิดาแห่งการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ คือ ความเป็นเลิศของการบริหารอยู่ที่การรู้อย่างแน่นอนว่า เราต้องการให้คนทำอะไร และดูแลว่าเขาได้ทำงานอย่างดีที่สุด และประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด, ไม่ควรนำแผนการบริหาร ซึ่งในระยะยาว ก่อให้เกิดความไม่พอใจทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมาใช้, สิ่งที่คนงานต้องการจากนายจ้างนอกเหนือจากสิ่งอื่น ๆ ก็คือ ค่าจ้างที่สูง และสิ่งที่นายจ้างต้องการจากคนงานมากที่สุดคือ ค่าใช้จ่ายในการผลิตที่ต่ำ
หลักการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ของ Taylor มีดังนี้คือ
1. หลักเรื่องเวลา (Time-study Principle) ถือว่า การวัดความสามารถในการผลิตโดยการจับเวลาในการผลิต และการตั้งเวลามาตรฐานสำหรับการผลิตทั้งหมด
2. หลักการกำหนดหน่วยค่าจ้าง (Price-rate Principle) ถือว่าอัตราค่าจ้างควรตั้งอยู่บนมาตรฐานที่ได้กำหนด
3. หลักการแยกงานวางแผนออกจากงานปฏิบัติ (Separation of Planning from Performance Principle) ฝ่ายวางแผนและฝ่ายปฏิบัติการควรแยกออกจากกัน การวางแผนควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ส่วนงานปฏิบัติการควรเป็นของฝ่ายคนงาน
4. หลักการทำงานโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific-methods of Work Principle) ถือว่า วิธีการทำงานควรจะถูกกำหนดโดยผู้บริหาร
5. หลักการควบคุมโดยฝ่ายบริหาร (Managerial Control Principle) ถือว่า ฝ่ายบริหารควรได้รับการฝึกอบรมในด้านการบริหาร ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการของวิทยาศาสตร์และควรจะนำหลักการบริหารและการควบคุมเชิงวิทยาศาสตร์ออกใช้
6. หลักการจัดระเบียบการปฏิบัติงาน (The Functional Management Principle) ยึดถือความเคร่งครัดในระเบียบวินัยในการส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงาน
การประยุกต์ใช้หลักการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ ในการบริหารการศึกษา
ผู้บริหารโรงเรียนเริ่มประยุกต์ใช้หลักการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้ในการบริหารการศึกษา F.Bobbit เป็นบุคคลแรก ในปี 1913 เขาได้เขียนบทความเรื่องหนึ่ง คือ “The Supervision of City Schools” เขาได้ประยุกต์หลักการบริหารทั่วไปในปัญหาของระบบโรงเรียนในเมือง และได้ให้คำแนะนำการประยุกต์ใช้หลักการต่าง ๆ ดังนี้
1. กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ควรใช้ในการดำเนินจัดตั้งมาตรฐานที่ต้องการเกี่ยวกับผลผลิตของโรงเรียน (School Production)
2. วิธีการผลิตควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์
3. คุณสมบัติของผู้ผลิต (ครู) ควรจะถูกกำหนดขึ้น และเขาควรได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมตามแนวทางวิทยาศาสตร์
4. ผู้ผลิต (ครู) ควรได้รับการชี้แจงให้รู้เกี่ยวกับมาตรฐานที่กำหนด วิธีการว่าจ้างและการใช้เครื่องมือต่าง ๆ
5. บุคลากรทางการศึกษามีมาตรฐานต่ำ จึงควรได้รับการตระเตรียมมาเป็นอย่างดีก่อนจะปฏิบัติงาน
Cubberley เป็นอีกคนที่มีบทบาททางด้านวิชาการการบริหารการศึกษา ซึ่งยึดแนวการบริหารของ Taylor เขาได้กล่าวถึงหลักการ 3 ประการ ของผู้ตรวจการศึกษา (Superintendent of Schools) คือ
1. การจัดองค์การ (Organization) ผู้ตรวจการศึกษาจะต้องเป็นผู้จัดองค์การของการดำเนินงานในโรงเรียน โดยเป็นผู้วางนโยบายให้โรงเรียนปฏิบัติ
2. การบริหาร (Execution) ผู้ตรวจการศึกษาจะต้องเป็นผู้บริหาร (Executive) ในสิ่งที่โรงเรียนดำเนินการ
3. การนิเทศ (Supervision) ผู้ตรวจการศึกษาจะต้องเป็นผู้นิเทศของการดำเนินการในโรงเรียน ความรู้ทางวิชาชีพและความหยั่งเห็นของเขาจะต้องปรากฏออกมาในรูปของงานประจำวันของครูและนักเรียน
Ward G. Reeder เป็นผู้บุกเบิกในด้านการบริหารการศึกษา ในหนังสือของเขา “Fundamentals of Public School Administration” เขาได้วางโครงสร้างเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียน ซึ่งรวมถึงการเลือกครู การใช้คอมพิวเตอร์ในเรื่องงบประมาณ การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ของโรงเรียน การวัดเชาวน์และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน การตระเตรียมรายวิชา และการจัดทำบัญชีของโรงเรียน
2.ทัศนะเชิงมนุษย์สัมพันธ์ (1935-1950) (The Human Relationships Point of View)
Mary Parker Follett แสดงความไม่เห็นด้วยกับการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์เธอกล่าวว่าปัญหาของการบริหารขององค์การใด ๆ รวมถึงโรงเรียนจะต้องมองไปที่มนุษย์สัมพันธ์ เธอสนับสนุนให้สร้างและดำรงไว้ในเรื่องมนุษย์สัมพันธ์
การสร้างมนุษย์สัมพันธ์ในองค์การสามารถสร้างได้โดยผ่านวิธีการดังนี้
1. การแก้ไขความแตกต่าง สามารถกระทำได้โดยผ่านทางการประชุมและความร่วมมือมากกว่าจะใช้กฎระเบียบที่เคร่งครัด
2. แนวความคิดของแต่ละกลุ่มสามารถสร้างขึ้นจากข้อเท็จจริงของสถานการณ์
3. กลุ่มคนแต่ละกลุ่มจะต้องเข้าใจทัศนะซึ่งกันและกัน
4. กลุ่มคนในองค์การใด ๆ จะมีเป้าหมายร่วมกัน และดำเนินงานด้วยความสามัคคี เพื่อให้เป้าหมายนั้นประสบกับความสำเร็จ
การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์สัมพันธ์
Elton Mayo, F.J. Roethliberget และ William J. Dickson สนับสนุนทัศนะของ Mayo ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า “การทดลองฮอร์ธอน (Hawthorn Experiment)
การวิจัยที่ฮอร์ธอนนี้ กระทำในระหว่างปี ค.ศ. 1927-1932 ณ บริษัท Western Electric Company ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์ของบริษัท
1. การศึกษาสภาพของห้องทำงาน (Room Studies) เพื่อต้องการหาข้อเท็จจริงว่าการทำงานในที่ทำงานที่มีแสงสว่างต่างกัน จะมีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตหรือไม่ และหากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานแล้ว จะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตหรือไม่เพียงใด คณะวิจัยได้ทำการทดลองในช่วงฤดูหนาวถึง 3 ฤดูหนาวด้วยกัน โดยการปรับแสงสว่างของห้องทำงาน ปรับสภาพความชื้นของอุณหภูมิในห้องให้มีสภาพต่าง ๆ กัน จัดให้ทำงานและหยุดเป็นระยะ ๆ เปลี่ยนแปลงการทำงานไม่ให้ซ้ำซาก เพิ่มค่าจ้างแรงงานเป็นเครื่องจูงใจ และเปลี่ยนแปลงวิธีควบคุมงาน
ผลจากการทดลองปรากฏว่า แสงสว่าง สภาพการทำงาน ระยะเวลาที่พักผ่อน การเพิ่มค่าจ้าง และการควบคุมงาน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานไม่มากนัก เรื่องท่าทีและทัศนคติของคนงาน กลับมีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอย่างสังเกตเห็นได้ชัด
2. การสัมภาษณ์ (Interview Studies) เพื่อค้นหาความเปลี่ยนแปลงกับสภาพแวดล้อมโดยเทคนิคการสัมภาษณ์ ทำให้สามารถประมวลปัญหาในการปฏิบัติงาน และนำไปสู่การจัดให้มีโครงการให้คำแนะนำปรึกษาแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในโรงงานอีกหลายแห่ง
3. การสังเกต (Observation Studies) เพื่อสังเกตการปฏิบัติงานของคนงานการศึกษาโดยการสังเกตนี้ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นอันมาก
การประยุกต์ใช้หลักมนุษยสัมพันธ์ในการบริหารการศึกษา
จากการศึกษาเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ข้างต้น เราสามารถนำหลักมนุษยสัมพันธ์มาใช้ในการบริหารการศึกษาได้ดังนี้ คือ
1. อาจารย์ใหญ่ควรจะสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีกับครูเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม
2. ปัญหาเรื่องมนุษยสัมพันธ์ ซึ่งในเบื้องต้นไม่ค่อยมีความสำคัญ แต่ต่อมาได้รับการยอมรับมากขึ้น
3. อาจารย์ใหญ่สามารถสร้างภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตยได้มากกว่า เพราะตำแหน่งของเขาเอื้ออำนวยให้
4. ครูทุกคนรวมเป็นกลุ่มสังคมที่ซับซ้อน อาจารย์ใหญ่จะต้องร่วมงานกลับครูเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง
5. ครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับผลกระทบกระเทือนต่อการตัดสินใจ ควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้นด้วย
3.ทัศนะเชิงพฤติกรรมศาสตร์ (1950-1970) (The Behavior Point of View)
Chester L. Barnard ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อว่า “The Function of the Executive” เขาได้กล่าวถึงทฤษฎีทั่ว ๆ ไปของความสัมพันธ์ทางการบริหารในแง่ของพฤติกรรมศาสตร์ เขาได้แบ่งหนังสือออกเป็นตอน 2 ตอน ตอนแรก จะกล่าวถึงด้านสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขของพฤติกรรมทางสังคม ส่วนตอนที่สอง Barnard ได้กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัวของตน และจากการสังเกตในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร Barnard ไม่ได้ให้หลักการของการบริหาร แต่ได้เน้นถึงความต้องการของแผนแนวความคิดที่เป็นระบบพฤติกรรมการบริหาร (Systematic Conceptual of Administration Behavior) ภายในขอบข่ายงานทางสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้บริหารจะต้องทำงานในองค์การเสมอ และในองค์การมีกิจกรรมการร่วมมือระหว่างบุคคล 2 คน หรือมากกว่า เขาได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างประสิทธิผลเป็นผลสำเร็จของความร่วมมือในการทำงาน ส่วนประสิทธิภาพเป็นความพอใจของแรงจูงใจของแต่ละบุคคล แต่การดำเนินงานขององค์การจะต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
การประยุกต์ใช้พฤติกรรมศาสตร์ในการบริหารการศึกษา
หลักพฤติกรรมศาสตร์สามารถนำมาใช้ในหลักการบริหารการศึกษาได้ต่อไปนี้คือ
1. การบริหารประกอบด้วยความรู้เฉพาะ (Specialized Knowledge) ทักษะและความเข้าใจ ซึ่งแตกต่างกันไปตามกิจกรรมต่าง ๆ ประสบการณ์ การสอนบางส่วนบวกกับการศึกษาทางด้านพฤติกรรมศาสตร์และการบริหารก็เพียงพอต่อการบริหารการศึกษา
2. การดำเนินการบริหาร ตั้งอยู่บนทัศนะความจริงขององค์การที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
3. พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของการบริหารอยู่ในพฤติกรรมศาสตร์ ดังนั้น ความเข้าใจในจิตวิทยา สังคมวิทยา มนุษยวิทยา และการเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าใจธรรมชาติที่เป็นจริงของปัญหาของการบริหารองค์การทางการศึกษา
4. การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการบริหารการศึกษา และการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ (Innovation) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างรีบด่วน
4.ทัศนะวิธีการเชิงระบบ (1970-ปัจจุบัน) (The Systems Approach Point of View)
มโนทัศน์ทางระบบ (Systems terminology and Concepts) เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน แต่ควรเข้าใจว่าวิธีการเชิงระบบไม่ใช่ทฤษฎี วิธีการเชิงระบบ (Systems Approaches) ได้ให้รูปแบบแนวความคิด มีลักษณะแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary)
Kaufman ได้ให้คำจำกัดความของ “Systems Approaches” ว่าคือ กระบวนการซึ่งมุ่งถึงหลักการดำเนินงานที่ยึดเอาศูนย์รวมเป็นหลัก งานทุกชนิดควรเริ่มจากการมีจุดมุ่งหมายของงาน (Needs Identification) ปัญหาที่ต้องแก้ไข (Problems Identification) วิธีการที่จะใช้แก้ปัญหา (Problems Solutions) และวิธีการประเมินผลงาน (Evaluation) เพื่อเสนอแนะวิธีการแก้ไขและปรับปรุงในคราวต่อไป (Recommendation)
ความเป็นมาของทฤษฎีระบบ (System Theory)
การที่จะศึกษาถึงองค์การโดยเน้นเฉพาะโครงสร้างตามแนวคิดของนักวิชาการกลุ่มการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเน้นเฉพาะการปฎิสัมพันธ์ของกลุ่มการบริหารเชิงมนุษย์สัมพันธ์ย่อมมีปัญหา เพราะไม่ครอบคลุมพฤติกรรมองค์การทั้งระบบ ทฤษฎีระบบเป็นทฤษฎีที่มีขอบเขตครอบคลุมพฤติกรรมทุกส่วนขององค์การ ทำให้สามารถอธิบายพฤติกรรมองค์การได้ทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ระดับกลุ่มและระดับองค์การ ทฤษฎีนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการบริหารเป็นอย่างมาก
การนำเอาแนวคิดของวิธีการเชิงระบบ (System Approach) มาใช้ในการบริหารด้วย เหตุผลที่ว่าในปัจจุบันองค์การมีการขยายอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อนมากขึ้นจึงยากที่จะพิจารณาถึงพฤติกรรมขององค์การโดยให้ครอบคลุมได้หมดทุกแง่ทุกมุม ทำให้นักวิชการบริหารทฤษฎีองค์การสมัยใหม่หันมาศึกษาเรื่องพฤติกรรมองค์การ โดยมีความเห็นว่าองค์การเป็นระบบย่อยของระบบสังคมซึ่งเป็นระบบใหญ่ จึงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา
ผู้ที่คิดทฤษฎีระบบ คือ ลูดวิก วอน เบอร์ทาแลฟฟี (Ludwig Von Bertalaffy) ซึ่งเป็นนักชีววิทยา เขาเป็นคนแรกที่เขียนหนังสือชื่อ “General System Theory” โดยนำเอาแนวคิดมาจากระบบชีววิทยา ซึ่งเป็นทฤษฎีระบบเปิดที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมว่าระบบชีววิทยาที่สมบูรณ์จะช่วยให้ทั้งคน สัตว์ และพืช สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในด้านการเรียนรู้ ปฏิกิริยาตอบสนอง และการแก้ปัญหา เขามีความเชื่อว่าในเมื่อองค์การเป็นระบบเปิด จึงย่อมมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นระบบมีความเกี่ยวพันต่อกันหลายด้าน หลายระดับ และส่วนต่างๆขององค์การก็เป็นส่วนสำคัญเท่า ๆ กับตัวขององค์การเอง ดังนั้นทฤษฎีระบบจะรวมเอาระบบย่อยทุกชนิดทั้งทางด้านขีวภาพ กายภาพ พฤติกรรม ความคิดเกี่ยวกับการควบคุม โครงสร้างเป้าหมายลกระบวนการปฏิบัติงานไว้ด้วยกัน
ความหมาย
คำว่า “ระบบ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า
“หมายถึง ระเบียบเกี่ยวกับการรวมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะซับซ้อนให้เข้าลำดับประสานกันเป็นอันเดียว
ตามหลักเหตุผลทางวิชาการ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติซึ่งมีส่วนสัมพันธ์ประสานเข้ากัน โดยกำหนดรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”
กิติมา ปรีดีดิลก กล่าวว่า “ คำว่า ระบบ ในการบริหารงานนั้นอาจกล่าวได้ว่า หมายถึงองค์ประกอบหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน และมีส่วนกระทบต่อปัจจัยระหว่างกันในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถูประสงค์ขององค์การ”
ศิริชัย ชินะตังกูร ให้คำจำกัดความของวิธีการเชิงระบบว่า “หมายถึง กระบวนการที่มุ่งเน้นถึงหลักการดำเนินงานที่ยึดเอาศูนย์รวมเป็นหลัก งานทุกชนิดเริ่มจากการมีจุดมุ่งหมายของงานที่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข วิธีการที่จะใช้แก้ปัญหา และวิธีการประเมินผลงานเพื่อเสนอแนะวิธีการแก้ไขและปรับปรุงในคราวต่อไป”
พรรณี ประเสริฐวงษ์ และคณะ ได้ให้ความหมายของระบบว่า “หมายถึงการเรียงลำดับองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนงานองค์ประกอบต่าง ๆ นั้นมีความสัมพันธ์และมีปฏิกิริยาซึ่งกันและกันในระหว่างส่วนต่างๆอยู่เสมอ”
จากความหมายดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า “ระบบเป็นกลุ่มขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อกระทำกิจกรรมให้ได้ผลสำเร็จตามความต้องการขององค์การ”
ปัจจุบันคำว่า “ระบบ” เป็นคำกล่าวที่ใช้กันแพร่หลายทั่วไป เวลาที่กล่าวถึงระบบเรามักจะต้องคำนึงถึง 3 คำ คือ
1.การคิดอย่างมีระบบ (System Thinking) หมายถึง การคิดอย่างมีเหตุผลโดยคิดอย่างรอบคอบถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งในภาพรวม และทุก ๆส่วนขององค์ประกอบย่อยของระบบว่าต่างก็มีส่วนสัมพันธ์กัน และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
2.วิธีการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ (System Approach) หมายถึง วิธีการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ โดยมีการนำเอาปัจจัยที่จำเป็นต่อการบริหารมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตรงตาม
เป้าหมายที่กำหนด ทั้งปัจจัย กระบวนการการทำงาน และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะมีส่วนสัมพันธ์กัน และเป็นผลซึ่งกันและกัน
3.ทฤษฏีระบบ (System Theory) เป็นทฤษฎีที่ระบุว่าองค์การประกอบด้วยส่วนประกอบที่เป็นอิสระ และเป็นวิธีการบริหารงานที่จะเพิ่มความเข้าใจ รู้จุดเด่นจุดด้อยในองค์การเพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาได้มากยิ่งขึ้น

หลักการและแนวคิดของทฤษฎีระบบ
1.ทฤษฎีระบบมีความเชื่อว่า ระบบจะต้องเป็นระบบเปิด (Open System) กล่าวคือ จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยได้รับอิทธิพล หรือผลกระทบตลอดเวลาจากสภาพแวดล้อม
2.มีรูปแบบของการจัดลำดับ (The Hierarchical Model) ในลักษณะของระบบใหญ่และระบบย่อยที่สัมพันธ์
3.มีรูปแบบปัจจัยป้อนเข้าและผลผลิต (Input Output Model) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลของปฏิสัมพันธ์ที่มีกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากปัจจัย กระบวนการ และผลผลิตตามลำดับเป็นองค์ประกอบของระบบ
4.แต่ละองค์ประกอบของระบบจะต้องมีส่วนสัมพันธ์กัน หรือมีผลกระทบต่อกันและกัน (The Entities Model) หมายความว่า ถ้าองค์ประกอบของระบบตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนไป ก็จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนขององค์ประกอบตัวอื่นด้วย
5.ทฤษฏีระบบเชื่อในหลักการของความมีเหตุ – ผลของสิ่งต่างๆ (Cause and Effect) ซึ่งเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ ทฤษฎีระบบไม่เชื่อว่าผลของการสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เกิดจากสาเหตุเพียงสาเหตุเดียว แต่ทฤษฎีระบบเชื่อว่าปัญหาทางการบริหารที่เกิดขึ้นมักจะมาจากสาเหตุที่มากกว่าหนึ่งสาเหตุ
6.ทฤษฎีระบบจะมองทุก ๆ อย่างในภาพรวมของทุกองค์ประกอบมากกว่าที่จะมองเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ
7.ทฤษฎีระบบคำนึงถึงผลของการปฏิบัติที่เป็น “Output” หรือ “Product” มากกว่า “Process” ซึ่งผลสุดท้ายของงานที่ได้รับ อาจมีมากมายหลายสิ่ง ซึ่งก็คือผลกระทบ(Outcome or Impact) ที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลังนั่นเอง
8.ทฤษฎีระบบจะมีกระบวนการในการปรับเปลี่ยน และป้อนข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) เพื่อบอกให้รู้ว่าระบบมีการเบี่ยงเบนอย่างไร ควรจะแก้ไขที่องค์ประกอบใด ซึ่งก็คือ การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis) นั่นเอง

รูปแบบของวิธีระบบ (System Approach Model)
จากหลักการและแนวคิดทฤษฎีระบบ ระบบประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญดังต่อไปนี้
1.ปัจจัยนำเข้า หมายถึงทรัพยากรทางการบริหารทุก ๆ ด้าน ได้แก่บุคลากร (Man) งบประมาณ (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Materials) การบริหารจัดการ (Management) และแรงจูงใจ (Motivation) ที่เป็นส่วนเริ่มต้นและเป็นตัวจักรสำคัญในการปฏิบัติงานขององค์การ
2.กระบวนการ(Process) คือการนำเอาปัจจัยหรือทรัพยากรทางการบริหารทุกประเภทมาใช้ในการดำเนินร่วมกันอย่างเป็นระบบ เนื่องจากในกระบวนการจะมีระบบย่อ ๆ รวมกันอยู่หลายระบบครบวงจร ตั้งแต่การบริหาร การจัดการ การนิเทศ การวัดและการประเมินผล การติดตามตรวจสอบ เป็นต้น เพื่อให้ปัจจัยทั้งหลายเข้าไปสู่กระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.ผลลัพธ์ (Product or Output) เป็นผลที่เกิดจากกระบวนการของการนำเอาปัจจัยมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
4.ผลกระทบ (Outcome or Impact)เป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คาดไว้หรือไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นก็ได้
เขียนเป็นรูปแบบ (Model) ของวิธีระบบได้ดังนี้
รูปแบบของการสังเคราะห์ (System Analysis Model)
การนำเอาทฤษฎีระบบหรือวิธีระบบมาใช้ในการบริหารองค์การ หากนำมาใช้ให้ดีถูกต้องและเหมาะสม ระบบก็ช่วยให้องค์การมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามหากนำมาใช้ไม่ถูกต้องหรือองค์ประกอบแต่ละส่วนของระบบไม่สัมพันธ์กัน ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์การได้ ดังนั้นการนะเอาทฤษฎีระบบหรือวิธีการระบบมาใช้จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ระบบที่เรียกว่า System Analysis ควบคู่กันไปด้วย
การวิเคราะห์ระบบจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า หากผลผลิตหรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ปัญหานั้นจะเกิดจากองค์กรประกอบใดของระบบ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) จะช่วยให้ทราบถึงประเภทของปัญหา จุดที่ต้องได้รับการพัฒนาแก้ไขหรือปรับปรุงได้มากขึ้น การแก้ไขปรับปรุงก็จะต้องกระทำอย่างเป็นระบบ มิใช่แก้ไขเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
ภาพประกอบที่ 2 แสดงรูปแบบองค์ประกอบของวิธีระบบและการวิเคราะห์ระบบ
การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis) เป็นส่วนหนึ่งของวิธีระบบ (System Approach) ที่มุ่งเน้นกระบวนการ (Process) มากกว่าผลผลิตหรือผลงาน (Out put or Product) โดยมุ่งวิเคราะห์ปัญหา (Indentifly the Problem) และเป็นกระบวนการประเมินวิธีระบบ
การวิเคราะห์ระบบ เป็นขั้นแรกของการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายเพื่อให้มีระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะการพัฒนาคือการปรับปรุง เพื่อให้สภาพปัญหาที่มีอยู่หมดไป หรือเหลือน้อยลงตามศักยภาพของทรัพยากรและข้อจำกัดที่มีอยู่ ให้เกิดความสมดุลของโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆในระบบ จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ระบบ
สรุปว่า การวิเคราะห์ระบบมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลวิธีระบบในเรื่องต่อไปนี้
1. ประเมินความมีประสิทธิภาพของระบบงาน
2. ประเมินเวลา
3. ประเมินการใช้งบประมาณ
4. ประเมินความถูกต้องของกระบวนการ
5. ประเมินผลผลิตหรือผลงาน
วิธีระบบและการวิเคราะห์ระบบเป็นกระบวนการที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุผล และมุ่งไปที่กระบวนการแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน
การนำทฤษฎีระบบมาใช้ในการแก้ปัญหา
การนำวิธีระบบมาใช้ในการแก้ปัญหานั้น ก่อนอื่นควรจะต้องรู้และทำความเข้าใจว่า ปัญหาคืออะไรเสียก่อน
 ปัญหา คือ ความแตกต่างระหว่างสภาพที่พึงประสงค์กับสภาพที่เป็นอยู่จริงในปัจจุบัน
 ปัญหา คือ ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คาดหวังว่าควรจะเป็นกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 ปัญหา คือ สภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และมีแนวโน้มว่าจะไม่ตรงกับความต้องการ
 ปัญหา คือ ความต้องการ
 ปัญหา คือ สิ่งที่ไม่ตรงกับความต้องการหรือความพอดี มากกเกินไปก็เป็นปัญหา น้อยเกินไปก็เป็นปัญหา
สรุปว่า ปัญหาคือ ความเบี่ยงเบนของสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างกับสภาวการณ์ที่ต้องการ สามารถเขียนเป็นสมการได้ดังนี้

ปัญหา = สภาพที่คาดหวัง – สภาพความเป็นจริง X ความวิตกกังวล
Problem = Expectation – Realition X Concern

ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาได้ ชีวิตก็จะมีคุณภาพ
Solution Quality of Life/Work

ประเภทของปัญหา แบ่งออกเป็นหลายประการ คือ
1. ปัญหาที่แบ่งตามระดับความรุนแรงของสภาวการณ์ของปัญหา (Degree or Condition of the Problem) แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.1 ปัญหาที่เกิดจากสภาวการณ์คงที่ (Stable) เช่น ปัญหาที่เกี่ยวกับเนื้องานระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆซึ่งไม่จำเป็นต้องรีบแก้ไข
1.2 ปัญหาที่เกิดจากสภาวการณ์ที่เป็นพลวัต (Dynamic) เช่น ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน และการปฏิบัติ
1.3 ปัญหาวิกฤต (Critical) เป็นปัญหารุนแรงที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนถ้าไม่แก้ไขจะส่งผลกระทบกับปัญหาอื่นๆได้
2. ปัญหาที่แบ่งตามความเบี่ยงเบนของสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับความต้องการที่เกิดในเวลาต่างกัน
2.1 ปัญหาขัดข้อง ถ้าความเบี่ยงเบนเกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบันยังคงปรากฏอยู่และมีแนวโน้มว่าจะเกิดต่อไปในอนาคต เพราะมาตรการแก้ไขไม่ได้ผล จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขไม่ได้ผล จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงเรียกว่าปัญหาขัดข้อง
2.2 ปัญหาป้องกัน ถ้าในอดีตไม่มีความเบี่ยงเบน แต่ปัจจุบันมีสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดความเบี่ยงเบนหรือเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตถ้าไม่ป้องกันเอาไว้ก่อน
2.3 ปัญหาเชิงพัฒนา ต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง (Change) เพื่อปรับปรุงสภาพในอนาคตให้ดีกว่าเดิมอย่างมีเป้าหมายว่าจะพัฒนาในเรื่องใด จึงจะทำให้คุณภาพของงานสูงขึ้น
ผู้บริหารที่มีความเชื่อว่าผลขอสถานการณ์เกิดจากสาเหตุใดเพียงสาเหตุเดียว (A Single - Causation) จะมีลักษณะของผู้นำที่มีความเข้มแข็ง เชื่อมั่นในตัวเองว่าเป็นผู้นำที่เข้มแข็งจะเป็นสาเหตุ (Cause) ที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพขององค์การ (Effect) เขียนเป็นภาพได้ดังนี้

ประสิทธิภาพขององค์การ
Effect

ภาพประกอบที่ 3 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำที่เข้มแข็งและประสิทธิภาพขององค์การ
ส่วนผู้บริหารที่มีความเชื่อว่า ผลของสถานการณ์เกิดจากหลายสาเหตุตามแนวคิดของทฤษฎีระบบ จะมีลักษณะของผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำ มีทักษะในการแก้ปัญหา ความขัดแย้ง รู้จักใช้ทรัพยากรที่จำเป็น และรู้เป้าหมายขององค์การอย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพขององค์การ
โดยเขียนเป็นภาพได้ดังนี้
ภาพประกอบที่ 4 แสดงผลของสถานการณ์ที่เกิดจากหลายสาเหตุ
ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีระบบ
1. ระบุประเด็นปัญหา (Problem/Needs Formulation)
2. กำหนดวัตถุประสงค์ (Establishing Objective)
3. ระบุแหล่งทรัพยากร/ข้อจำกัด (Resources/Constraints)
4. กำหนดเกณฑ์ของความสำเร็จ (Criteria of Success)
5. กำหนดทางเลือกหลายๆทาง (Alternative)
6. กำหนดรูปแบบของทางเลือก (Model for Selecting Alternatives)
7. จัดลำดับทางเลือก (Ranking of Alternatives)
8. ตัดสินใจ/ทำแผนปฏิบัติการ (Decision Making Formulation/Specification of Action Plan)
9. นำแผนไปปฏิบัติ (Implementation)
10. ติดตามกำกับ/ประเมินผล (Monitoring/Evalation and Feedback)
ประโยชน์ของการนำวิธีระบบมาใช้ในการแก้ปัญหาการศึกษา
เนื่องจาก การศึกษาเป็นระบบ (Educational System) และในระบบการศึกษาก็มักจะมีระบบย่อย (Sub - System) อีกหลายระบบ เช่น ระบบบริหาร ระบบการเรียนการสอน ระบบการางแผน ระบบการนิเทศ ฯลฯ การนำวิธีระบบมาใช้ในการแก้ปัญหาการศึกษาจะช่วยให้เกิดประโยชน์ดังนี้คือ
1. ช่วยกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษา
2. ช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีระบบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
3. ช่วยกำหนดคุณลักษณะ/รายละเอียดที่จำเป็นและไม่ตรงประเด็น
4. ช่วยให้มองเห็นวัตถุประสงค์ที่สามารถวัดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
5. ช่วยเสนอแนะวิธีการในการพัฒนานวัตกรรม และการแก้ปัญหาที่รุนแรง (Critical) ทางการศึกษา
6. ก่อให้เกิดความยุติธรรม เพราะวิธีระบบเป็นวิธีการที่ปราศจากความลำเอียง
7. เป็นเครื่องมือที่ช่วยผู้บริหารในการตัดสินใจ
8. ช่วยผู้บริหารในการตัดสินค่านิยมและนโยบายภายใต้กรอบความรับผิดชอบ

บทที่ 5
วิเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารและ พัฒนาการของการบริหาร
ตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
หลักการของการศึกษา
การศึกษา หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์ จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการการสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (มาตรา 4)
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติได้วางหลักการศึกษาของไทยไว้ว่า กระบวนการจัดการศึกษานั้น ต้องเป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน สังคมต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง (มาตรา 8) โดยมีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (มาตรา 6) ทั้งนี้ ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง (มาตรา 7)

การบริหารและการจัดการศึกษา
1. ความเป็นเอกภาพด้านนโยบาย
ให้มีกระทรวงที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษากระทรวงเดียวคือ กระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (มาตรา 13)
1) กำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
2) กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา
3) สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
4) การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
2. ความหลากหลายในการปฏิบัติ
บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถาน
ประกอบการและสถาบันสังคมอื่น ๆ มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 12)
การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาสต้องจัดให้ตั้งแต่แรกเกิด หรือพบความพิการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและให้ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษต้องจัดตามรูปแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น (มาตรา 10)
3. การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดให้กระทรวงการศึกษา ศาสนา และ
วัฒนธรรม กระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการและสำนักงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 39) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่ง หรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการของท้องถิ่น โดยกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นองค์กรในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อม ตลอดจนประสานและส่งเสริมให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบาย ได้มาตรฐานการศึกษาและเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการศึกษา (มาตรา 41, มาตร 42)
4.ระบบการศึกษา
4.1 การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบคือ (มาตรา 15)
1) การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลา
ของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
2) การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ
วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและการประเมินผลซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
3) การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ
ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่น ๆ
4.2 การศึกษามีสองระดับคือ (มาตรา 16)
1) การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาที่จัดไม่น้อยกว่าสิบสองปีก่อน
ระดับอุดมศึกษา
2) การศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาที่จัดต่อจากการศึกษาขั้นพื้นฐานมีสอง
ระดับ คือระดับต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา (มาตรา 16) การบริหารและการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นไปตามกฎหมายที่จัดตั้งสถาบันการศึกษานั้น ๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5. แนวการจัดการศึกษา
รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬา และนันทนาการ แหล่งข้อมูล และแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ (มาตรา 25) และต้องดำเนินการดังนี้
5.1 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ผู้เรียนมีความสามารถเรียนรู้
และพัฒนาตนเองได้
5.2 การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องดำเนินการ (มาตรา 24) โดยจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรม
ให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล การฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และมีการจัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน ปลูกผังคุณธรรมค่านิยมที่ดีงาม ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้
5.3 ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความ
ประพฤติ การร่วมกิจกรรม
5.4 หลักสูตร ซึ่งในแต่ละระดับการศึกษาต้องมีลักษณะหลากหลาย ทั้งนี้ให้จัดตามความ
เหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมแก่วัยและศักยภาพ
6. มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา
มาตรฐานการศึกษา หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์และ
มาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง เพื่อให้เป็นหลักในการเทียบเคียง สำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล การประกันคุณภาพทางการศึกษา (มาตรา 4)
การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพ
และมาตรฐานการศึกษาทั้งจากภายในและภายนอกสถานศึกษา หากดำเนินการโดยบุคคลากรของสถานศึกษา หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น เรียกว่า “การประกันคุณภาพภายใน” แต่หากดำเนินการโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมนคุณภาพการศึกษา (มาตรา 49 กำหนดให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์ วิธีการประเมินคุณภาพภายนอกและทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา) หรือบุคคลหรือหน่วยงานที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินผลคุณภาพการศึกษารับรองเรียกว่า “การประกันคุณภาพภายนอก”
7. มาตรฐานและการพัฒนาวิชาชีพ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดเรื่องมาตรฐานและการพัฒนา
วิชาชีพครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา
7.1 ระบบกระบวนการผลิตและการพัฒนา กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
ต้องส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง
7.2 องค์กรวิชาชีพ รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายว่า ด้วยองค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา มีฐานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การบริหารของสภาวิชาชีพในกำกับของกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมมีดังนี้
1) กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ
2) ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
3) กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ
4) การพัฒนาวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา
7.3 องค์กรกลางบริหางานบุคคล รัฐต้องจัดให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของ
ข้าราชการครู โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งของหน่วยงานทางการศึกษาในระดับสถานศึกษาของรัฐและระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นข้าราชการในสังกัดองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู โดยยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 54)
7.4 เงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น จัดให้มีกฎหมายว่าด้วย
เงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์สำหรับข้าราชการครูและบุคลากร
8. การลงทุนทางการศึกษา
8.1 การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา และการลงทุนด้านงบประมาณการเงินและทรัพย์สิน
ทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน ฯลฯ โดยอาจจัดเก็บภาษีด้านการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด
8.2 การจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา รัฐต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับ
การศึกษาในฐานะที่มีความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ (มาตรา 60,61)
8.3 การจัดหาผลประโยชน์และรายได้ของสถานศึกษา สถานศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคล
มีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา
8.4 การติดตาม ตรวจสอบ การใช้จ่ายงบประมาณ จัดให้มีการตรวจสอบ ติดตามและ
ประเมินประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
9. เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
9.1 การจัดสรรคลื่นความถี่ รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น
ที่จำเป็นต่อการส่งเสริมวิทยุกระจายเสีย วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคมและการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อประโยชน์สำหรับการจัดการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม (มาตรา 63)
9.2 การจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รัฐต้องจัดให้มีการระดมทุนเพื่อจัดตั้ง
กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจากเงินอุดหนุนเงินรายได้จากการสัมปทานและผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคม (มาตรา 68)

10. การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชน
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้สถานศึกษาเอกชนเป็นนิติบุคคล และสามารถจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา ส่วนการบริหารและการจัดการศึกษานั้นจะต้องมีความเป็นอิสระ โดยการกำกับติดตาม กระประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาจากรัฐภายใต้การควบคุมตรวจสอบของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาโดยรัฐให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ประเภทเงินอุดหนุน การลดหย่อนหรือการยกเว้นภาษี และสิทธิประโยชน์อื่นที่เป็นประโยชน์ในทางการศึกษาแก่สถานศึกษาเอกชนตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการให้มีมาตรฐานและสามารถพึ่งตนเองได้ (มาตรา 43, มาตรา 45)


บทที่ 6
ข้อเสนอแนะทางการบริหาร
ในการบริหารใดๆ ก็ตามผู้บริหารมักจะดำเนินการไปตามแนวคิด ความเชื่อ หรือยึดหลักตามทฤษฏีที่กล่าวไว้ หรือตามนโยบายที่ได้กำหนดขึ้นมาใหม่ หรือดำเนินการไปโดยไม่มีหลักเกณฑ์ใดเป็นสิ่งยึดก็ตาม ถือว่าเขาเหล่านั้นได้ดำเนินการตามแนวความคิด หรือความเชื่อของตนเอง คงไม่มีใครสามารถบริหารงานโดยปราศจากปรัชญาทางการบริหาร สิ่งที่เป็นปัญหากับผู้บริหารก็คือ อะไรคือปรัชญาทางการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ปรัชญานั้นๆ จะใช้ได้กับทุกองค์การ และทุกยุคทุกสมัยหรือไม่ และจะสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปรัชญานั้นได้อย่างไร จึงจะเหมาะสมกับงานและบรรยากาศขององค์การ
ปรัชญาทางการบริหารสามารถสรุปกว้างๆ ได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1.ปรัชญาการบริหารที่เน้นกิจกรรมเป็นหลัก (Activities Oriented)
แนวคิดเดิมถือว่าปรัชญาทางการบริหารขึ้นอยู่กับคำสั่ง (Command System) ผู้บริหารสามารถปฏิบัติให้คำสั่งนั้นเกิดประสิทธิผล และงานประสบความสำเร็จ ผู้บริหารจึงเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือคนอื่น และมีอิทธิพลต่อความสำเร็จขององค์การ การดำเนินงานทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารเพียงอย่างเดียว ปรัชญาการบริหารลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการเน้นกิจกรรมที่จัดทำขึ้น (Activities Oriented) โดยผู้บริหาร เช่น กิจกรรมการจัดโครงสร้างขององค์การ การจัดแบ่งงาน การตัดสินใจ และการมอบอำนาจ ตลอดจนการควบคุมงาน ขึ้นอยู่กับผู้บริหารแต่เพียงผู้เดียว

2.ปรัชญาการบริหารที่เน้นผลงานขั้นสุดท้ายเป็นสำคัญ (Results Oriented)
แนวความคิดใหม่ในระยะหลังปรัชญาการบริหาร ได้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่เปิดกว้าง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันมากขึ้น โดยคำนึงถึงสภาพที่แท้จริงและแนวโน้มที่ควรจะเป็น ตลอดจนหลักการ เทคนิคใหม่ๆ และความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ปรัชญาทางการศึกษาในแนวใหม่นี้จึงค่อยๆ ลดอำนาจการตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารแต่เพียงผู้เดียวมาเป็นปรัชญาการบริหารที่เน้นในเรื่องของความต้องการของผลงานขั้นสุดท้าย (Results Oriented) เป็นสำคัญ โดยเน้นถึงเรื่องความร่วมมือของผู้ร่วมงาน การใช้ทรัพยากรบุคคลให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ให้ความสนใจกับการกำหนดเป้าหมาย และการแสวงหาทางเลือกเพื่อความสำเร็จของงาน ปรัชญาการบริหารตามแนวนี้ ทำให้ผู้บริหารรู้จักและยอมรับตัวเอง ตลอดจนมองเห็นทิศทางที่จะนำมาซึ่งประสิทธิผลขององค์การ ผู้มีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการทำงาน การประเมินผลงานจึงมุ่งไปที่ผลงานขั้นสุดท้าย (Results) มากกว่าขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน (Activities)
ปรัชญาการบริหารใน 2 ลักษณะนี้ มักถูกนำไปใช้ในองค์การทั้งสองลักษณะผสมผสานกัน ไม่สามารถตัดสินเด็ดขาดได้ว่าองค์การใดควรใช้ปรัชญาใด เพียงแต่ว่า บางองค์การอาจต้องเน้นปรัชญาหนึ่งมากกว่าอีกปรัชญาหนึ่งเพื่อความเหมาะสม และจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องมีความรู้เรื่องการบริหารองค์การให้มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารที่หวังผลในการบริหารจำเป็นต้องเรียนรู้หลักการ ทฤษฏีทางการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการสมัยใหม่ ผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์ ย่อมประสบความสำเร็จมากกว่าผู้บริหารที่มีแต่ประสบการณ์อย่างเดียว ความรู้เรื่องการบริหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารจะนำไปประยุกต์ใช้ และเป็นพื้นฐานในการศึกษาหาความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น การบริหารจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่การที่จะนำศาสตร์ไปบริหารได้อย่างมีศิลป์นั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องมีทักษะเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับกาลเทศะ บุคคล และสถานการณ์ โดยเข้าใจในธรรมชาติของการบริหารอย่างแท้จริง
วิธีการเชิงระบบได้ทำประโยชน์ให้กับการบริหารการศึกษาเช่นกัน ถ้าหากนักบริหารรู้จักใช้แนวความคิดของวิธีการเชิงระบบมาใช้ในการบริหารการศึกษา งานก็จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี วิธีการเชิงระบบจะทำให้นักบริหารมองดูสถานการณ์และแก้ปัญหาทั้งปัญหา (Totality) มีทัศนะมองการณ์ไกล ในองค์การของตน วิเคราะห์สภาพปัจจุบันและผลกระทบกระเทือนในอนาคตรู้จักวิธีการใช้ (Cost-utility) ในการเลือก ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้การบริหารการศึกษาบรรลุเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้

ข้อเสนอแนะการบริหารการศึกษา และการบริหารประเภทอื่น ๆ
กิจกรรมกลุ่มทุกอย่างจำต้องอาศัยการบริหารอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อการจัดและนำการทำงานของกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นวงการอุตสาหกรรม การค้า รัฐบาล การป้องกันประเทศ และการศึกษา ลักษณะที่เหมือนกันของวงการบริหารทุกประเภท ก็คือขอบข่ายของมันจะครอบคลุมการผลิตสินค้าและให้บริการกับสาธารณะ การควบคุมงบประมาณ การสรรหา การฝึกอบรม การทดแทนบุคลากร และการประสานงานของทุกฝ่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มและกิจกรรมของมนุษย์
ถึงแม้ว่าการบริหารทุกประเภทจะมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่ก็ตาม แต่มันก็มีลักษณะของความแตกต่างกันระหว่างกระบวนการบริหารที่สัมพันธ์กับองค์การ สังคมและสถาบัน ความแตกต่างเหล่านี้จะสัมพันธ์กับ (ก) เป้าหมาย วัตถุประสงค์และการกระตุ้น (ข) วิธีและเทคนิค (ค) การประเมินผล
(ก) เป้าหมาย วัตถุประสงค์และการกระตุ้น วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการบริหารอุตสาหกรรมก็คือ การผลิตและการแจกจ่ายสินค้า เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ แรงกระตุ้นของการบริหารอุตสาหกรรมจะเน้นหนักที่ผลกำไร ส่วนให้บริการนั้นเน้นน้อยมาก ในด้านตรงกันข้ามการบริหารการศึกษาจะเน้นที่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ โดยมีแรงกระตุ้นทางบริการสวัสดิการ และความก้าวหน้าของมนุษย์ วัตถุประสงค์ของการป้องกันประเทศก็คือ การป้องกันสันติภาพและเสรีภาพ โดยการทำสงครามถ้าหากจำเป็นสงครามมีเป้าหมายที่การฆ่าและทำลาย ส่วนการบริหารการศึกษาจะรังเกียจการทำลายมนุษย์ ตรงกันข้ามจะเป็นการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์
การบริหารธุรกิจก็แตกต่างจากการบริหารการศึกษาเช่นเดียวกัน การบริหารธุรกิจ จะเกี่ยวข้องกับสินค้าและวัสดุเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการบริหารการศึกษาจะเกี่ยวข้องกับคน การบริหารธุรกิจจะมีลักษณะตายตัว ส่วนการบริหารการศึกษาจะยืดหยุ่น
(ข) วิธีและเทคนิค วิธีและเทคนิคของกิจกรรมจะส่งเสริมเป้าหมาย สิ่งสำคัญที่การบริหารการศึกษาจะเกี่ยวข้องก็คือ คนและสวัสดิการของเขา เทคนิคของการบริหารการศึกษาจะเป็นการชักชวน ในขณะที่เทคนิคการบริหารประเภทอื่น ๆ จะมีลักษณะเผด็จการ ใช้อำนาจ การบริหารการศึกษาจะนำเอาปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มเข้าไว้ในกระบวนการทำงานตลอดเวลา ส่วนการบริหารประเภทอื่น ๆ จะละทิ้งปฏิสัมพันธ์ของกลุ่ม จริงอยู่ พลังอำนาจ (Power) อำนาจหน้าที่ (authority) และการควบคุมมีความจำเป็นต่อการบริหารทุกประเภทก็ตาม แต่ในกรณีของการศึกษา จะต้องใช้ลักษณะประชาธิปไตย ในการบริหารการศึกษา ช่องของการติดต่อและการสื่อความหมายจะต้องเปิดกว้างและมีอิสระเสมอ แต่การบริหารประเภทอื่น ๆ ความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวจะมีน้อยมากระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง

(ค) การประเมินผล การประเมินผลเป็นส่วนสำคัญของกิจกรรมทั้งหมด และเป็นหน้าที่ของการบริหารที่จะวัดและประเมินผลที่ได้เพื่อปรับปรุงกิจกรรมต่อไป การศึกษาจะเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพของมนุษย์ ซึ่งมีความซับซ้อนมาก การศึกษาจะเกี่ยวกับมาตรฐาน (standard) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ประสิทธิภาพของมันจะตั้งอยู่บนเกณฑ์เดียวกัน การตระเตรียมแบบทดสอบบุคลิกภาพ ความสนใจ และแบบสำรวจเจตคติ (Attitude Inventory) และเครื่องมือวัดทางจิตวิทยาอื่น ๆ เป็นเรื่องซับซอนและสิ้นเปลืองมาก นอกจากนี้ การศึกษายังเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ผลที่ได้ก็ไม่ใช่ทันทีทันใด ส่วนในกิจกรรมประเภทอื่น ๆ เช่น ธุรกิจและอุตสาหกรรมผลที่ได้จะเห็นชัดเจนและรวดเร็ว การวัดและประเมิน ก็ใช้วิธีง่าย ๆ

การบริหารการศึกษาแบบประชาธิปไตย
แนวความคิด 9 ประการ เกี่ยวกับการบริหารการศึกษา ซึ่งมีดังนี้
1. ผู้บริหารการศึกษาจะต้องส่งเสริมความสามัคคีและขวัญของหมู่คณะ
2. การบริหารโรงเรียนควรจะถือว่าเป็นการให้บริการ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมโปรแกรมการเรียนการสอน เป็นแนวทาง (Means) ไม่ใช่จุดจบในตัวเอง
3. การบริหารการศึกษาจะต้องประกันถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
4. การบริหารการศึกษาในยุคดังกล่าวจะเน้นในการใช้อำนาจของกลุ่มที่ปกครองโรงเรียน นั่นก็คืออำนาจที่ได้รับจากประชาชน
5. การบริหารการศึกษาควรจะถือว่าเป็นตัวสร้าง (creator) สภาพที่ก่อให้เกิดความพอใจแก่แต่ละคน
6. การบริหารการศึกษาจะต้องใช้วิธีการทางสังคมศาสตร์สำหรับกำหนดและพัฒนาหลักการที่เที่ยงตรง
7. เพื่อประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการบริหารการศึกษา ทั้งมิติของปัจเจกบุคคลและขององค์การของพฤติกรรมผู้นำถือว่ามีความสำคัญ
8. ในยุคนี้เน้นว่า การศึกษามีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมก็มีผลกระทบต่อการศึกษา
ดังนั้น การบริหารการศึกษาจึงควรจะมองเกินเลยไปจากองค์การรูปนัย (Formal Organization) สู่โลกทางจิตสังคม (Psysho-social world) รอบ ๆ โรงเรียนและควรจะตรวจสอบและเข้าใจสภาพทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมรอบ ๆ โรงเรียนที่มีอิทธิพลต่อการบริหารโรงเรียน
9. มีการเน้นการตระเตรียมสหวิทยาการ (Inter-disciplinary preparation) สำหรับผู้นำการบริหารเช่นเดียวกัน เป็นที่กล่าวกันว่า ผู้เตรียมตัวเป็นนักบริหารโรงเรียนควรจะได้รับการสอนวิธีและเทคนิคที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหา และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโรงเรียน

สรุป การบริหารการศึกษานั้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสตร์ของตัวเองที่พัฒนาโดยการลองผิดลองถูก ตลอดจนการทดลองและการวิจัย การบริหารการศึกษาได้พัฒนาเข้าสู่วิชาชีพขั้นสูง (profession) อย่างรวดเร็ว เพราะการบริหารการศึกษาต้องการมาตรฐานของความสามารถบางอย่าง (standard of competence) การฝึกอบรมทางวิชาชีพ บริการที่สำคัญต่อสังคม ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและการศึกษาอย่างมีลำดับขั้นตอน และควรจะยึดหลักต่อไปนี้

หลักการดำเนินงานตามวิธีการของ “Systems Approaches”
1. ค้นหาสาเหตุของความจำเป็น
2. ตรวจสอบดูสาเหตุของความจำเป็น
3. ตั้งมาตรการในการดำเนินโครงการ
4. วางแผนให้สอดคล้องกับโครงการ
5. ตรวจสอบความสำเร็จตามขั้นตอนนั้น
6. หาวิธีการแก้ไขปัญหาแต่เนิ่น ๆ
7. ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
8. อบรมบุคลากรต่าง ๆ
9. สร้างมาตรฐานการวัดผล

การประยุกต์ใช้พฤติกรรมศาสตร์ในการบริหารการศึกษา
หลักพฤติกรรมศาสตร์สามารถนำมาใช้ในหลักการบริหารการศึกษาได้ต่อไปนี้คือ
1. การบริหารประกอบด้วยความรู้เฉพาะ (Specialized Knowledge) ทักษะและความเข้าใจ ซึ่งแตกต่างกันไปตามกิจกรรมต่าง ๆ ประสบการณ์ การสอนบางส่วนบวกกับการศึกษาทางด้านพฤติกรรมศาสตร์และการบริหารก็เพียงพอต่อการบริหารการศึกษา
2. การดำเนินการบริหาร ตั้งอยู่บนทัศนะความจริงขององค์การที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
3. พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของการบริหารอยู่ในพฤติกรรมศาสตร์ ดังนั้น ความเข้าใจในจิตวิทยา สังคมวิทยา มนุษยวิทยา และการเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าใจธรรมชาติที่เป็นจริงของปัญหาของการบริหารองค์การทางการศึกษา
4. การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการบริหารการศึกษา และการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ (Innovation) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างรีบด่วน

บทที่ 7
แนวทางปฏิบัติงานตามรอยพระยุคลบาท
หลักการสำคัญที่ข้าราชการจะต้องยึดถือ
1. “...ประเทศของเรามีเอกราชอธิปไตย และความเจริญมั่นคงมาได้ทุกวันนี้ เพราะคนไทยทุกหมู่เหล่ายึดมั่นในชาติบ้านเมือง และรู้จักหน้าที่ของแต่ละฝ่ายแต่ละคนให้ประสานส่งเสริมกัน...”
2. “...การที่จะให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มีความสุขและความเจริญ ย่อมต้องอาศัยความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ที่ยังไม่เดือดร้อนนักก็ควรที่จะช่วยผู้ที่เดือดร้อนมากกว่า...”
3. “...การดำรงรักษาชาติประเทศนั้นมิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ คน ที่จักต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไป โดยสอดคล้องกันเกื้อกูลกัน และมีจุดมุ่งหมาย มีอุดมคติร่วมกัน...”
4. “...ความเจริญผาสุกและความตั้งมั่นของบ้านเมือง เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดที่บุคคลพึงระลึกถึงและพึงประสงค์ และความเจริญมั่นคงนั้นจะเกิดมีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนในชาติมีความอยู่ดีเป็นปกติสุขปราศจากทุกข์ยากเข็ญ...”
5. “...ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการปฏิบัติบริหารงานใหญ่ๆ เช่น งานของแผ่นดินและความสามัคคีนี้จะเกิดมีขึ้นมั่นคงได้ ก็ด้วยบุคคลในหมู่ในคณะมีคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวผูกพันจิตใจของกันและกันไว้...”
6. “...เมื่อใดมีความเข้มแข็ง มีความสามัคคี ก็จะทำให้บ้านเมืองมีพลังยิ่งขึ้นเมื่อนั้น เมื่อบ้านเมืองมีพลังยิ่งขึ้นก็สามารถที่จะทำให้พวกเราเองมีความปลอดภัยและความก้าวหน้าในที่สุด...”
7. “...ผู้ที่ปฏิบัติงานโดยดีโดยบริสุทธิ์แล้ว ย่อมได้มีส่วนในการช่วยประเทศชาติให้อยู่เย็นเป็นสุข...”
8. “...ความมีใจจริงที่ขาดไม่ได้ในการทำงาน มีสองประการ ประการที่หนึ่งคือ ความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีลักษณะประกอบด้วยความซื่อตรง เมตตา หวังดี พร้อมเสมอที่จะร่วมมือช่วยเหลือและส่งเสริมกันทุกขณะ ทั้งในฐานะผู้มีจุดประสงค์ที่ดีร่วมกัน และในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติร่วมโลกกัน ประการที่สองได้แก่ความจริงใจต่องาน มีลักษณะเป็นการตั้งสัตย์อธิษฐานหรือการตั้งใจจริงที่จะทำงานให้เต็มกำลัง...”
9. “...ถ้าเราจะเอาแต่ชนะ มันก็ต้องมีแพ้ แต่ถ้าเราปรองดองกัน มีแต่ชนะไม่มีแพ้...”
10. “...การแก้ไขปัญหานั้น ถ้าไม่ทำให้ถูกเหตุถูกทางด้วยความรอบคอบระมัดระวัง มักจะกลายเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากและยุ่งยากขึ้น...”
11. “...ประโยชน์ส่วนรวมนั้นเป็นประโยชน์ที่แต่ละคนพึงยึดถือเป็นเป้าหมายหลักในการปฏิบัติตนปฏิบัติงาน เพราะเป็นประโยชน์อันยั่งยืนแท้จริง ซึ่งทุกคนมีส่วนได้รับทั่วถึงกัน...”

12. “...เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ทุกคนชอบที่จะทำความคิดความเห็นให้สอดคล้องกัน ร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไขด้วยเหตุและผลตามเป็นจริงบนพื้นฐานอันเดียวกัน ก็จะเห็นแนวทางปฏิบัติแก้ไขได้อย่างเที่ยงตรงถูต้อง และเหมาะสม...”
13. “...งานรักษาความมั่นคงของประเทศเป็นงานที่กว้างขวางและละเอียดลึกซึ้ง เกี่ยวเนื่องถึงงานของบ้านเมืองทุกๆ ส่วน ทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนแผนและกระบวนการปฏิบัติให้ถูกต้องทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา...”
14. “...ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรมและพึงประสงค์นั้น คือ ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไปและระวังมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีความเจริญให้เกิดขึ้น และระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไปอย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญแก่การปฏิบัติตนปฏิบัติงาน...”
15. “...การยึดมั่นในผลประโยชน์ของแผ่นดิน และความถูกต้องเป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ...”
16. “...การทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เป็นทั้งรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ จะทำให้บ้านเมืองของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง...”
17. “...ไม่ว่าจะปฏิบัติภาระหน้าที่อันใด ทั้งส่วนน้อยส่วนใหญ่ขอให้ปรารภประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นจุดหมายสูงสุด...”
18. “...เมื่อพบอุปสรรคใดๆ อย่าเพิ่งท้อแท้จะหมดกำลังใจง่ายๆ จงตั้งใจทำให้ดี คิดหาทางที่จะแก้ไขผ่อนคลายอุปสรรคต่างๆ ด้วยเหตุผลและหลักวิชา ไตร่ตรองด้วยความสุขุมรอบคอบ และเยือกเย็น งานก็จะลุล่วงไปได้ด้วยดี...”
19. “...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้น ต่อไปได้โดยแน่นอน...”
20. “...ความสุขความเจริญที่แท้จริงอันควรหวังนั้น เกิดขึ้นได้จากการกระทำและความประพฤติที่เป็นธรรม มีลักษณะสร้างสรรค์ คือ อำนวยผลที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวแก่ผู้อื่น ตลอดถึงประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย...”
21. “...ความทุกข์เดือดร้อนของประชาชนนั้น มิใช่เป็นความรับผิดชอบของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่จะช่วยกันแก้ไขป้องกันโดยเต็มกำลัง...”
22. “...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”
23. “...การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนาคือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริตความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย...”
24. “...ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มีการแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก...”

แนวทางการปฏิบัติงาน
1. “...จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และสมบูรณ์ บริบูรณ์ เพื่อให้บังเกิดแต่เฉพาะสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชน...”
2. “...ต้องตั้งใจกระทำการให้สมบูรณ์และเหนียวแน่นด้วยความสุจริตบริสุทธิ์ใจ ด้วยความสามัคคีปรองดอง ไม่แก่งแย่งแข่งดีกัน...”
3. “...ต้องมีวินัยเคร่งครัด มีความขยันหมั่นพากเพียร มีความกล้าหาญอดทน และมีสติยั้งคิดอย่างสูง..”
4. “...ต้องมีและต้องรักษาความสุจริตไว้ให้มั่นคงทุกเมื่อ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะและสถานการณ์ใด...”
5. “...จะต้องไม่ยอมปล่อยตัวปล่อยใจให้ลุแก่อำนาจโลภะและโทสะเสียเอง...”
6. “...จะต้องตั้งใจขวนขวายปฏิบัติงานด้วยความฉลาดรอบคอบให้สำเร็จลุล่วงตรงตามเป้าหมายโดยไม่ชักช้า...”
7. “...ต้องเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อมทุกเวลาที่จะเผชิญ จะต่อสู้แก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนต่างๆ ด้วยเหตุผล หลักวิชา ความถูกต้อง ความรอบคอบอดทน และด้วยสามัคคีธรรม...”
8. “...ขอให้ทุกฝ่าย ทุกคน นึกถึงประโยชน์และความมั่นคงของชาติบ้านเมืองให้มาก อย่าก่อความขัดแย้งและก่อเงื่อนไขอันเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยก...”
9. “...ต้องพยายามใช้ความคิด ความเฉลียวฉลาด ปรับปรุงตัวปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพเสมอ...”
10. “...จะต้องมีความสุจริตใจ และจริงใจต่อผู้เกี่ยวข้องร่วมงานทุกฝ่ายทุกคน พร้อมทั้งประพฤติปฏิบัติต่อกันและกันอย่างเหมาะสม ด้วยความเมตตาอารี และความไม่มีอคติ...”
11. “...ต้องสำรวจดูความบกพร่องของตนเองอยู่สม่ำเสมอแล้วปฏิบัติแก้ไขเสียโดยเร็วไม่ปล่อยให้เจริญงอกงามทำความเสียหายให้แก่การกระทำ ความคิด และการงาน...”
12. “...ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มาก...”
13. “...ให้เป็นคนที่มั่นคงในสัตย์สุจริตและความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ปล่อยให้ความสุจริตยุติธรรมถูกข่มขี่ให้มัวหมอง...”
14. “...ต้องมีความซื่อตรง จริงใจ และบริสุทธิ์ใจต่องานและวิชาการของตน ไม่สับปลับ มักง่าย ไม่ประมาทเมินเฉย เพราะจะเป็นเหตุทำให้เสียงานและเสียคนพร้อมกันทั้งสองอย่าง...”
15. “...จะต้องเฉลียวฉลาดในการปรับปรุงตัวปรับปรุงงานให้ทันการทันเวลา และในการประสานสามัคคีประสานประโยชน์ กับผู้ร่วมงานทุกคนทุกระดับ ตลอดถึงผู้อื่นฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องถึงทั้งหมดด้วย...”
16. “...จะต้องฝึก ต้องสร้างวินัยในตัวเอง สำหรับควบคุมประคับประคองให้สามารถปฏิบัติความดีได้อย่างเหนียวแน่นตลอดต่อเนื่อง มิให้ขาดตอนหรือขาดวิ่นลง...”
17. “...จะต้องยึดมั่นในหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องในวินัยและระเบียบแบบแผนที่ดีงาม ในเป้าหมายและประโยชน์ที่ชอบธรรมอย่างเคร่งครัด...”
18. “...จะต้องทำงานทุกอย่างทุกระดับด้วยปัญญาความฉลาดรู้ คิดพิจารณาตามเหตุผล ประกอบด้วยความมีสติรู้ตัวระมัดระวังตัวทุกเมื่อ เพื่อมิให้เกิดความบกพร่องผิดพลาด...”
19. “...ต้องตั้งตัวตั้งใจให้มั่นคงและหนักแน่นเป็นพิเศษในอันจะรักษาความสุจริต และถูกต้องไว้ทุกเมื่อ ด้วยความเพียรพยายาม ความกล้าหาญ อดทน เสียสละ และด้วยสติปัญญาความรู้เท่าทันเหตุการณ์...”
20. “...ต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม..”
21. “...จะต้องมีความจริงใจและบริสุทธิ์ใจไม่ว่าในการงาน ในผู้ร่วมงาน หรือในการรักษาระเบียบแบบแผน ความดีงาม ความถูกต้องทุกอย่าง...”
22. “...จะต้องไม่ประพฤติปฏิบัติการสิ่งใด ที่ทวนกระแสความถูกต้องเป็นธรรม และบ่อนทำลายผู้อื่นเป็นอันขาด...”
23. “...จะต้องเป็นคนที่ทำตัวทำงานอย่างมีหลักการ มีระเบียบ มีเหตุผลที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นธรรม...”
24. “...ต้องมีความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอทั้งในการทำงานและการทำความดี แม้จะเหนื่อยยากหรือมีอุปสรรคขัดขวางมากมายเพียงใด ก็ไม่ย่อท้อถอยหลัง...”
25. “...จะต้องอาศัยปัญญาความฉลาดรู้เหตุผล เป็นเครื่องตรวจสอบ พิจารณา วินิจฉัยการกระทำความประพฤติทุกอย่างอยู่สม่ำเสมอโดยไม่ประมาท เพื่อมิให้ผิดพลาดเสื่อมเสีย...”
26. “...ต้องสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกันโดยแท้จริง จึงจะทำให้บ้านเมืองของเราอยู่ได้...”
27. “...ขอให้ยึดมั่นในชาติบ้านเมือง และในประโยชน์ร่วมกันของประเทศชาติไทยให้ยิ่งกว่าประโยชน์อื่นใด...”
28. “...ขอให้ความร่วมมือกันรักษาความมั่นคงของประเทศเรา ด้วยความสมัครสมานสามัคคี ด้วยความเสียสละและด้วยความคิดพิจารณาอันสุขุมรอบคอบ เพื่อประโยชน์สุขและความวัฒนาถาวรของราชอาณาจักรไทยสืบไป...”
29. “...จะต้องเร่งรัดปฏิบัติบริหารงานของชาติทุกๆ ส่วนให้ดำเนินรุดหน้าไปพร้อมกันและประสานสอดคล้องเกื้อกูลกัน ให้ทันกับสภาวะของโลกที่วัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยถือเอาความถูกต้องเป็นหลักการและแนวทางสำคัญในการปฏิบัติงานและการแก้ไขระงับปัญหาทั้งปวงในแผ่นดิน...”
30. “..จะต้องมีความรอบคอบรู้จักกาลเทศะ ยึดหลักศีลธรรมเป็นเครื่องเตือนใจให้ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม

บรรณานุกรม

กฤษฏาง แถวโสภา. สรุปสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์ จำกัด, 2546.
การศึกษา กองวิชาการ,สำนัก. สาระน่ารู้เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาและการประเมินผล.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมการเกษตรแห่งประเทศไทย, 2541.
เกษตรและสหกรณ์,กระทรวง. แนวทางการปฏิบัติงานตามรอยพระยุคลบาท. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2542.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี,สำนักงาน. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค, 2542.
เจริญ สุวรรณโชติ,รศ.ดร. ทฤษฏีบริหาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรไทย, 2544.
จันทรานี สงวนนาม,ดร. ทฤษฏีและแนวปฏิบัติในการบริหารสถานศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บุ๊ค พอยท์, 2551.
ชาญชัย อาจินสมาจาร,ดร. การบริหารการศึกษา. กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์ดี จำกัด, 2544.
ธีระ รุญเจริญ, ศ.ดร. ความเป็นมืออาชีพในการจัดและบริหารการศึกษา ในยุคปฏิรูปการศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, 2550.
----------------------. บริหารอย่างไรจึงจะเป็นมืออาชีพ. เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่องผู้บริหารมืออาชีพ. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล, 2546.
---------------------. ลักษณะนักบริหารการศึกษามืออาชีพ. เอกสารประกอบการบรรยาย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล, 2543.
นฤมล ปภัสสรานนท์ และ สมเจตน์ จิรายุกุล. การบริหารจัดการในห้องเรียน. เอกสารประกอบชุดวิชา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, 2551.
พยอม วงศ์สารศรี, รศ.ดร. องค์การและการจัดการ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, 2550.
เลขาธิการสภาการศึกษา,สำนักงาน. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2). กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค, 2545.
วิชัย ตันศิริ,ดร. หลักพื้นฐานทางการศึกษา. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยรังสิต, 2550.
เสนาะ ติเยาว์,ศ. หลักการบริหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551
อภิรมณ์ ณ นคร. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษา. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2522.

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความรู้คู่การศึกษา เกี่ยวกับคอมพิมเตอร์

คำสั่งเกี่ยวคีย์บอร์ด
CTRL+X (Cut)
CTRL+V (Paste)
CTRL+Z (Undo)
DELETE (Delete)
SHIFT+DELETE (Delete the selected item permanently without placing the item in the Recycle Bin)
CTRL while dragging an item (Copy the selected item)
CTRL+SHIFT while dragging an item (Create a shortcut to the selected item)
F2 key (Rename the selected item)
CTRL+RIGHT ARROW (Move the insertion point to the beginning of the next word)
CTRL+LEFT ARROW (Move the insertion point to the beginning of the previous word)
CTRL+DOWN ARROW (Move the insertion point to the beginning of the next paragraph)
CTRL+UP ARROW (Move the insertion point to the beginning of the previous paragraph)
CTRL+SHIFT with any of the arrow keys (Highlight a block of text)
SHIFT with any of the arrow keys (Select more than one item in a window or on the desktop, or select text in a document)
CTRL+A (Select all)
F3 key (Search for a file or a folder)
ALT+ENTER (View the properties for the selected item)
ALT+F4 (Close the active item, or quit the active program)
ALT+ENTER (Display the properties of the selected object)
ALT+SPACEBAR (Open the shortcut menu for the active window)
CTRL+F4 (Close the active document in programs that enable you to have multiple documents open simultaneously)

ALT+TAB (Switch between the open items)
ALT+ESC (Cycle through items in the order that they had been opened)
F6 key (Cycle through the screen elements in a window or on the desktop)
F4 key (Display the Address bar list in My Computer or Windows Explorer)
SHIFT+F10 (Display the shortcut menu for the selected item)
ALT+SPACEBAR (Display the System menu for the active window)
CTRL+ESC (Display the Start menu)
ALT+Underlined letter in a menu name (Display the corresponding menu)
Underlined letter in a command name on an open menu (Perform the corresponding command)
F10 key (Activate the menu bar in the active program)
RIGHT ARROW (Open the next menu to the right, or open a submenu)
LEFT ARROW (Open the next menu to the left, or close a submenu)
F5 key (Update the active window)
BACKSPACE (View the folder one level up in My Computer or Windows Explorer)
ESC (Cancel the current task)
SHIFT when you insert a CD-ROM into the CD-ROM drive (Prevent the CD-ROM from automatically playing)

Dialog Box Keyboard Shortcuts
CTRL+TAB (Move forward through the tabs)
CTRL+SHIFT+TAB (Move backward through the tabs)
TAB (Move forward through the options)
SHIFT+TAB (Move backward through the options)
ALT+Underlined letter (Perform the corresponding command or select the corresponding option)
ENTER (Perform the command for the active option or button)
SPACEBAR (Select or clear the check box if the active option is a check box)
Arrow keys (Select a button if the active option is a group of option buttons)

F1 key (Display Help)
F4 key (Display the items in the active list)
BACKSPACE (Open a folder one level up if a folder is selected in the Save As or Open dialog box)


Microsoft Natural Keyboard Shortcuts
Windows Logo (Display or hide the Start menu)
Windows Logo+BREAK (Display the System Properties dialog box)
Windows Logo+D (Display the desktop)
Windows Logo+M (Minimize all of the windows)
Windows Logo+SHIFT+M (Restore the minimized windows)
Windows Logo+E (Open My Computer)
Windows Logo+F (Search for a file or a folder)
CTRL+Windows Logo+F (Search for computers)
Windows Logo+F1 (Display Windows Help)
Windows Logo+ L (Lock the keyboard)
Windows Logo+R (Open the Run dialog box)
Windows Logo+U (Open Utility Manager)


Accessibility Keyboard Shortcuts
Right SHIFT for eight seconds (Switch FilterKeys either on or off)
Left ALT+left SHIFT+PRINT SCREEN (Switch High Contrast either on or off)
Left ALT+left SHIFT+NUM LOCK (Switch the MouseKeys either on or off)
SHIFT five times (Switch the StickyKeys either on or off)
NUM LOCK for five seconds (Switch the ToggleKeys either on or off)
Windows Logo +U (Open Utility Manager)




Windows Explorer Keyboard Shortcuts
END (Display the bottom of the active window)
HOME (Display the top of the active window)
NUM LOCK+Asterisk sign (*) (Display all of the subfolders that are under the selected folder)
NUM LOCK+Plus sign (+) (Display the contents of the selected folder)
NUM LOCK+Minus sign (-) (Collapse the selected folder)
LEFT ARROW (Collapse the current selection if it is expanded, or select the parent folder)
RIGHT ARROW (Display the current selection if it is collapsed, or select the first subfolder)


Shortcut Keys for Character Map
After you double-click a character on the grid of characters, you can move through the grid by using the keyboard shortcuts:
RIGHT ARROW (Move to the right or to the beginning of the next line)
LEFT ARROW (Move to the left or to the end of the previous line)
UP ARROW (Move up one row)
DOWN ARROW (Move down one row)
PAGE UP (Move up one screen at a time)
PAGE DOWN (Move down one screen at a time)
HOME (Move to the beginning of the line)
END (Move to the end of the line)
CTRL+HOME (Move to the first character)
CTRL+END (Move to the last character)
SPACEBAR (Switch between Enlarged and Normal mode when a character is selected)





Microsoft Management Console (MMC) Main Window Keyboard Shortcuts
CTRL+O (Open a saved console)
CTRL+N (Open a new console)
CTRL+S (Save the open console)
CTRL+M (Add or remove a console item)
CTRL+W (Open a new window)
F5 key (Update the content of all console windows)
ALT+SPACEBAR (Display the MMC window menu)
ALT+F4 (Close the console)
ALT+A (Display the Action menu)
ALT+V (Display the View menu)
ALT+F (Display the File menu)
ALT+O (Display the Favorites menu)



MMC Console Window Keyboard Shortcuts
CTRL+P (Print the current page or active pane)
ALT+Minus sign (-) (Display the window menu for the active console window)
SHIFT+F10 (Display the Action shortcut menu for the selected item)
F1 key (Open the Help topic, if any, for the selected item)
F5 key (Update the content of all console windows)
CTRL+F10 (Maximize the active console window)
CTRL+F5 (Restore the active console window)
ALT+ENTER (Display the Properties dialog box, if any, for the selected item)
F2 key (Rename the selected item)
CTRL+F4 (Close the active console window. When a console has only one console window, this shortcut closes the console)

Remote Desktop Connection Navigation
CTRL+ALT+END (Open the Microsoft Windows NT Security dialog box)
ALT+PAGE UP (Switch between programs from left to right)
ALT+PAGE DOWN (Switch between programs from right to left)
ALT+INSERT (Cycle through the programs in most recently used order)
ALT+HOME (Display the Start menu)
CTRL+ALT+BREAK (Switch the client computer between a window and a full screen)
ALT+DELETE (Display the Windows menu)
CTRL+ALT+Minus sign (-) (Place a snapshot of the active window in the client on the Terminal server clipboard and provide the same functionality as pressing PRINT SCREEN on a local computer.)
CTRL+ALT+Plus sign (+) (Place a snapshot of the entire client window area on the Terminal server clipboard and provide the same functionality as pressing ALT+PRINT SCREEN on a local computer.)



Microsoft Internet Explorer Navigation
CTRL+B (Open the Organize Favorites dialog box)
CTRL+E (Open the Search bar)
CTRL+F (Start the Find utility)
CTRL+H (Open the History bar)
CTRL+I (Open the Favorites bar)
CTRL+L (Open the Open dialog box)
CTRL+N (Start another instance of the browser with the same Web address)
CTRL+O (Open the Open dialog box, the same as CTRL+L)
CTRL+P (Open the Print dialog box)
CTRL+R (Update the current Web page)
CTRL+W (Close the current window)


เอากระทู้รวบรวมวิธีป้องกันไวรัสมาโพสท์อีกครั้งครับ รอบที่ 3 ครับ 


ตามหัวข้อกระทู้แหละครับ ผมเอากระทู้รวบรวมวิธีป้องกันไวรัสมาโพสท์อีกครั้งครับ รอบที่ 3 ครับ พอดีกระทู้ครั้งที่ 2 ตกไปแล้ว
ผมเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ดูการพัฒนาของ Virus กับ Anti Virus ดูเหมือนว่า Virus จะพัฒนาไปไกลและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
มีความสามารถปิดเซฟโหมด มีความสามารถปิดโปรแกรม Anti Virus หรือเขียนค่าใน Regedit ให้ Window เปิดโปรแกรมตามที่มันเขียนไว้ไม่ได้  มีความสามารถปิด System Restore ของ Window  มีความสามารถซ้อนตัวขึ้นมาแทน explorer ของ window และอีกมากมายจนคาดไม่ถึง 
แล้วพวกผู้ใช้คอมพิวเตอร์ละครับ ก็อ่วมอรทัยซิครับ ณ ตอนนี้อย่าหวังพึ่ง Anti Virus อย่างเดียวเลยนะ เราต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ด้วยนะ 

ขั้นแรก หัดศึกษาและใช้ โปรแกรม Ghost ให้คล่องครับ มี 2 ตัว ที่ แนะนำคือ Acronis Truimage กับ Norton Ghost นะ ลองไปดูที่นี่นะ
(กดปุ่มเพื่อแสดงข้อความที่ซ่อนอยู่)

อันนี้ของ Norton Ghost 
(กดปุ่มเพื่อแสดงข้อความที่ซ่อนอยู่)

ขั้นที่ 2 วิธีป้องกันไม่ให้ Virus ลงเครื่องเบื้องต้น Link นี้ครับ
(กดปุ่มเพื่อแสดงข้อความที่ซ่อนอยู่)

ในนี้จะบอกวิธีปิด Autorunในเครื่องคุณครับ..ทำไมถึงต้องปิด Autorun..? เพราะพักหลังๆไวรัสมันมักติดมากับ Flash Drive , Memory stick ทุกอย่างที่เสียบกับ USB Port ถ้าเมื่อไหร่อุปกรณ์เหล่านี้ติดไวรัสและโปรแกรม Anti Virus ในเครื่องคุณไม่รู้จักละก็..ทันทีที่คุณเสียบมันและ Autorun ทำงานก็ Game Over Computerของคุณติดไวรัสเรียบร้อยแล้ว
วิธีที่ถูกต้องคือ กด shift ค้างไว้ตอนใส่ จนกว่าเครื่องจะ detect device ได้ เป็นการ disable autorun หรือระงับ Autorun แบบชั่วคราวครับ ควรทำทุกครั้งก่อนที่จะเสียบอุปกรณ์พวกนี้ที่เครื่องคุณหรือเครื่องคนอื่นครับ
วิธีดูข้อมูลในอุปกรณ์จำพวก Flash Drive ให้คลิกขวาที่Start Menu เลือก Explorer แล้วคลิกที่ Drive ที่คุณเสียบ ถ้าบรรทัดบนสุดขึ้นAutoPlay หรืออย่างอื่นที่ไม่ใช่Open ให้สงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะมีไวรัสครับ

อยากให้ไปอ่านที่กระทู้นี้ประกอบซึ่งจะบอกว่าVirus worm mulware คือ อะไรครับ
(กดปุ่มเพื่อแสดงข้อความที่ซ่อนอยู่)
อยากให้ไปดาวโหลดโปรแกรมป้องกันไวรัสจากอุปกรณ์ Flash Driveโดยเฉพาะครับ..ตัวอย่างCPE17AntiAutorun1330.exe โปรแกรมนี้ดีครับตัวเล็กดี..แต่มีไวรัสบางตัวหลุดรอดจากการตรวจจับไปได้..แต่สุดท้ายเสร็จโปรแกรม Avast AntiVirus ครับ

มีอีกตัวครับที่เอาไว้ดักไวรัสจากอุปกรณ์ Flash Drive คือ AHDV ซึ่งตัวนี้ก็ดีครับแต่ตัวโปรแกรมใหญ่ไปนิดและบางท่านอาจไม่ชอบเพราะโปรแกรมนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อดักจับไฟล์ต้องสงสัยจำพวก Autorun.* และ *.exe เพื่อป้องกันไวรัสตัวใหม่ๆ ซึ่งบางท่านบอกว่ามันลบมั่ว...ซึ่งความคิดเห็นของผม(ส่วนตัวจริงๆ)มันดีสำหรับกรณีมีไวรัสตัวใหม่ออกมาครับและไม่มีโปรแกรมไหนรู้จักไฟล์ไวรัสตัวนี้เลยถ้ามันติดมากับFlash Driveคุณ พอโปรแกรมนี้เจอมันจะจัดการเอาไปขังไว้ก่อนรอท่านไปจัดการสังหารโหดมันทีหลังครับ


10 วิธีในการลดปัญหาเกี่ยวกับไวรัสและสแปมเมล์

  1. ควรมีอีเมล์อย่างน้อยคนละ 2 อีเมล์ (อีเมล์ในองค์กร + อีเมล์ส่วนตัว)
     :: ทั้งนี้อีเมล์ขององค์กร ก็ควรใช้เฉพาะขององค์กรไม่ควรใช้ร่วมกัน (เพื่อลดปัญหา กรณีมีการย้ายงาน)

  2. หลีกเลี่ยงการ post อีเมล์ในเว็บบอร์ดต่างๆ ถ้าจำเป็นควรใช้อีเมล์ส่วนตัว
     :: เนื่องจากปัจจุบันมีโปรแกรมในการดูดอีเมล์จากเว็บต่างๆ ซึ่งอีเมล์ของคุณอาจถูกนำไปขายให้กับบริษัทรับอีเมล์ก็ได้ ซึ่งมีผลทำให้คุณจะได้รับเมล์โฆษณาต่างๆ อีกมากมาย

  3. สำหรับองค์กร ไม่ควรนำอีเมล์ขององค์กรไป register ในเรื่องส่วนตัว

  4. หลีกเลี่ยงการส่ง Forward mail โดยเฉพาะเมล์ ลูกโซ่

  5. หลีกเลี่ยงการเปิดเมล์ที่คนที่เราไม่รู้จัก

  6. หลีกเลี่ยงการตอบเมล์ กับคนที่เราไม่รู้จัก
     เนื่องจากจะเป็นการยืนยันอีเมล์ของคุณว่า มีคนใช้งานจริง

  7. หลีกเลี่ยงการคลิกลิงค์ภายในอีเมล์ที่ได้รับ เนื่องจากเป็นช่องทางของไวรัสที่จะเข้าสู่เครื่องคอมฯ

  8. หลีกเลี่ยงการเปิดเมล์ ที่มีไฟล์ attached เข้ามา เช่น .scr, .com, .exe, .bat เป็นต้น

  9. หลีกเลี่ยงการเปิดเมล์ ที่มี subject เช่น hello, hi, I love you เป็นต้น เนื่องจาก subject เหล่านี้มักเป็นที่มาของไวรัส

 10. หลีกเลี่ยงการติดตั้ง free program จากเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชือถือ
     เพราะโปรแกรมเหล่านี้ อาจมีโปรแกรม spyware แอบแฝงเข้ามาให้ตอนติดตั้งด้วย โดยเฉพาะกับโปรแกรมประเภท Screen Saver ที่หลายๆ คนชื่นชอบ

นอกจากนี้การลบไฟล์ขยะที่เกิดจากการเข้าไปเว็บไซ ต์ต่างๆ จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน เราสามารถใช้โปรแกรมที่มากับ Windows ลบได้โดยการเข้าไปยังเมนู All Programs -> Accessories -> System Tools -> Disk Cleanup

แหล่งที่มาจาก  http://www.it-guides.com/
จากคุณ : Hunter Virus  -[ 3 ต.ค. 51 - 23:48:06 ] 


พื้นฐานการใช้งาน Internet Explorer


พื้นฐานการใช้งาน Internet Explorer

โปรแกรม Internet Explorer เป็นโปรแกรม Browser ที่ใช้สำหรับอ่าน และดูเอกสารในรูปแบบ Web Page โดยสามารถเปิดเอกสารผ่านระบบเครือข่าย (Internet และ Intranet) โปรแกรม Web Browser เป็นโปรแกรมในการรับส่งข้อมูลของโลกเราในทุกวันนี้ที่ได้รับความนิยมกันมาก ซึ่งมีหลายองค์กรที่พัฒนาโปรแกรมเหล่านี้และกลายเป็นที่นิยมและรู้จักันดี เช่น Microsoft ได้พัฒนาโปรแกรม Browser ชื่อ Internet Explorer ส่วน Netscape ได้พัฒนา Web Browser ชื่อ Netscape Navigator
แหล่งของโปรแกรม Internet Explorer
โปรแกรม Internet Explorer นั้นเป็นโปรแกรมประเภท Freeware ซึ่งสามารถดาว์นโหลดได้ที่เวปไซด์ ของ บริษัท ไมโครซอฟท์ http://www.microsoft.com และถ้าคุณลงวินโดว์เวอร์ชั่นตั้งแต่ Window98 ขึ้นไป จะมี โปรแกรม Internet Explorer ถูกติดตั้งมาด้วย
ทำความรู้จักกับ Internet Explorer
โปรแกรม Internet Explorer เป็นโปรแกรมประเภท Web Browser ที่ใช้เรียกดูเอกสารประเภท Hypertext Markup Language หรือ HTML
เข้าสู่โปรแกรม InternetExplorer
หลังจากที่เครื่องคอมพิวเตอร์ติดต่อกับอินเตอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว การเปิดโปรแกรม Internet Explorer เพื่อท่องไปยังเวปไซท์ต่างๆ ได้ดังนี้
ดับเบิ้ลคลิกที่ไอคอน Internet Explorer บน Desktop หรือ คลิกปุ่ม Start > Programs และเลือก Internet Explorer
รอการโหลดเวปเพจ คุณจะพบกับโฮมเพจของบริษัทไมโครซอฟท์ หรือหน้าแรกที่คุณตั้งไว้
การปรับแต่ง Toolbar
เราสามารถเพิ่มหรือเอาปุ่มของเครื่องมือในทูลบาร์ออก โดยการกำหนดที่ไดอะล็อกบ็อกซ์ Customize Toolbar โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. คลิกเมาส์ที่ Menu View
2. เลื่อนเมาส์ไปที่ Toolbars
3. เลื่อนเมาส์ไปคลิกที่ Customize
4. ทำการเพิ่มปุ่มเครื่องมือโดยคลิกเมาส์เลือกปุ่มเครื่องมือที่อยู่ด้านซ้ายมือ
5. คลิกเลือกปุ่มเครื่องมือที่อยู่ในช่องด้านซ้ายมือ
6. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Add และกดปุ่ม Close จะปรากฏไอคอนในทูลบาร์ตามที่ต้องการ (หากต้องการนำปุ่มเครื่องมือออกให้ทำการคลิกเมาส์ที่ปุ่ม Remove)
การจัดการกับคุกกี้ (Cookies)
Cookies อ่านว่า คุ้กกี้ แต่ไม่ใช่ของกินนะ Cookies คือ Text File ชนิดหนึ่งที่ทาง Server ใช้เก็บข้อมูลลงในเครื่องของผู้ชม ( Client ) ลักษณะการเก็บคือ Server จะเขียนข้อมูลเป็น Text File ลงใน Hard Disk ของเครื่องคุณเลย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ที่ Server จะเขียน Cookies ลงในเครื่องของคุณก็เพื่อใช้ในการ Auto Login เป็นต้น ซึ่ง MarinerThai ก็ทำเหมือนกัน
Cookies เก็บไว้ที่ไหน ??
ลักษณะของ Cookies จะเป็น Text File ถ้าเครื่องที่ใช้เป็น Windows 9X  และ Browser เป็น IE การเก็บ Cookies จะอยู่ที่ C:\WINDOWS\Cookies ซึ่งเราสามารถใช้ Notepad เปิดดูได้โดยที่ IE จะแยกเก็บเป็นลักษณะเว็บละไฟล์ ถ้าเป็น XP และ Browser เป็น IE การเก็บจะเหมือนกับ 9X แต่จะเก็บที่ C:\Documents and Settings\Duay หรือชื่อ User ที่ใช้
สำหรับ Netscape นั้นจะเก็บ Cookies เป็นแบบ Text File แต่ว่าจะรวมทุกเว็บไว้ในไฟล์เดียวกันที่ C:\Program Files\Netscape\User\Defaultหรือชื่อผู้ใช้\Cookies.txt ก็เปิดด้วย Notepad หรือโปรแกรม Text File ทั่วๆไป
ขั้นตอนการกำหนด Privacy ให้กับอินเตอร์เน็ตโซนเพื่อจัดการคุกกี้
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Tools
2. เลื่อนเมาส์ไปคลิกที่ Internet Options จะปรากฏไดอะล็อกบ็อกซ์ Internet Options ขึ้นมา
3. คลิกเมาส์เลือกแท็บ Privacy
4. คลิกเมาส์เพื่อลากสไลด์เดอร์ตาม Option ที่ต้องการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
a. Block All Cookies เป็นการระงับใช้คุกกี้
b. High ระงับใช้คุกกี้ที่ไม่มีการแยกข้อมูลที่เป็นส่วนตัวออกไว้ต่างหาก
c. Medium High ระงับใช้คุกกี้ของ third party และ first party ที่ไม่มีการแยกข้อมูลที่เป็นส่วนตัวออกไว้ต่างหาก
d. Medium ระดับการใช้คุกกี้ของ third party และจำกัดการใช้คุกกี้ของ first party ที่ไม่มีการแยกข้อมูลที่เป็นส่วนตัวออกไว้
e. Low ระงับการใช้คุกกี้ของ third party ที่ไม่มีการแยกข้อมูลที่เป็นส่วนตัวออกไว้ต่างหาก
f. Accept All Cookies ยอมให้ใช้คุกกี้ทั้งหมด และยินยอมให้คุกกี้ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราถูกบันทึกเพื่ออ่านได้
5. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Site เพื่อกำหนดการจัดการ Cookie ให้แต่ล่ะ Website จะปรากฏไดอะล็อกบ็อกซ์ Per Site Privacy Actions
6. พิมพ์ชื่อเว็ปไซต์และกำหนดรายละเอียดในช่องของ Address of web site
a. คลิกเมาส์ที่ Block เพื่อระงับการใช้คุกกี้ ซึ่งจะมีค่าเหมือนกับการเลือก Option Block All Cookies
b. คลิกเมาส์ที่ Allow ถ้ายินยอมให้ใช้คุกกี้ทั้งหมด ซึ่งจะมีค่าเหมือนกับการเลือก Option Allow All Cookies
ถ้าหากต้องการลบเว็ปไซต์ที่ถูกกำหนด Privacy ออกไป ให้เลือกชื่อเว็ปไซต์ที่ต้องการลบและเลือก Remove หรือลบเว็ปไซต์ทั้งหมดโดยการเลือก Remove All
7. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม OK เพื่อยืนยัน
การปรับแต่ง Internet Option
การปรับแต่ง Internet Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานต่างๆ เช่น การตั้งค่าโฮมเพจเริ่มต้น, จัดการกับ Temporary Internet files และกำหนดค่าโปรแกรมให้ทำงานร่วมกับ IE โดยอัตโนมัติ
ขั้นตอนการลบไฟล์คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Tools
2. เลือกเมาส์ไปคลิกที่ Internet Options
3. คลิกเมาส์เลือกแท็บ General
4. ในกรอบของ Temporary Internet files คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Delete Cookies
5. เลือก OK เพื่อยืนยัน หรือ เลือก Cancel เพื่อยกเลิกการลบ
ขั้นตอนการจัดการเนื้อที่ของ Harddisk ให้กับ Temporary Internet Pages
Temporary Internet Files เป็นไฟล์ชั่วคราวที่มาจากการเปิดเว็บ ไฟล์พวกนี้จะถูกสร้างขึ้นชั่วคราวระหว่างที่เราท่องอินเตอร์เน็ตและเมื่อมีมากขึ้น จะทำให้พื้นที่ของ Hard Disk เหลือน้อย และอาจส่งทำให้หน่วยความจำเต็มจนเครื่องทำงานช้าลงหรือแฮงค์ (เครื่องค้าง) ได้ เราสามารถลบไฟล์พวกนี้ออกได้หลังจากที่เราท่องเว็บเสร็จสิ้นแล้ว
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Tools
2. เลือกเมาส์ไปคลิกที่ Internet Options
3. คลิกเมาส์เลือกแท็บ General
4. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Setting จะปรากฏไดอะล็อกบ็อกซ์ Setting ขึ้นมา
5. ในกรอบของ Temporary Internet file folder ให้คลิกเมาส์เพื่อลากสไลด์เดอร์
a. ลากสไลด์เดอร์ไปด้านขวาเพื่อเพิ่มเนื้อที่การจัดเก็บ
b. ลากสไลด์เดอร์ไปด้านซ้ายเพื่อลดเนื้อที่การจัดเก็บ
6. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม OK เพื่อยืนยัน
ขั้นตอนการกำหนดโอมเพจหลักหรือหน้าแรกเมื่อเปิดโปรแกรม
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Tools
2. เลื่อนเมาส์ไปคลิกที่ Internet Options
3. คลิกเมาส์เลือกแท็บ General
4. ในกรอบของ Home Page ในช่อง Address ให้พิมพ์ชื่อเว็ปไซต์เพื่อกำหนดเป็นเว็ปไซต์หลัก
5. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม OK เพื่อปิดไดอะล็อกบ็อกซ์ Internet Option
ขั้นตอนการกำหนดสีให้กับ Links เพื่อแสดงให้เห็นหน้าเว็ปเพจที่เคยเยี่ยมมาแล้ว
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Tools
2. เลื่อนเมาส์ไปคลิกที่ Internet Options
3. คลิกเมาส์เลือกแท็บ General
4. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Color จะปรากฏไดอะล็อกบ็อกซ์ Color ขึ้นมา
5. คลิกเมาส์ที่ Visited: เพื่อกำหนดสีของ Links ที่ถูกคลิกแล้ว
6. คลิกเมาส์ที่ Unvisited: เพื่อกำหนดสีของ Links ที่ยังไม่ถูกคลิก
7. ถ้าต้องการกำหนด highlight ให้กับ Links ให้คลิกเมาส์เลือกเช็กบ็อกซ์ Use hover color
8. คลิกเมาส์ปุ่ม OK เพื่อจบการทำงาน
ขั้นตอนการเปลี่ยนลักษณะของตัวอักษร (Fonts) ให้กับหน้าเว็ปเพจที่แสดงอยู่
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Tools
2. เลื่อนเมาส์ไปคลิกที่ Internet Options
3. คลิกเมาส์เลือกแท็บ General
4. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Fonts จะปรากฏไดอะล็อกบ็อกซ์ Fonts ขึ้นมา
5. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Language script: เพื่อเลือกกลุ่มของตัวอักษร
6. คลิกเมาส์ที่ Web page font: เพื่อเลือกลักษณะของตัวอักษร
7. คลิกปุ่ม OK เพื่อปิดไดอะล็อกบ็อกซ์ Fonts
ขั้นตอนการลบชื่อของเว็ปเพจที่เคยเยี่ยมชมมาแล้ว
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Tools
2. เลื่อนเมาส์ไปคลิกที่ Internet Options
3. คลิกเมาส์เลือกแท็บ General
4. ในกรอบของ History คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Clear History
5. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Yes
6. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม OK เพื่อจบการทำงาน
ขั้นตอนการกำหนดระดับของการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Tools
2. เลื่อนเมาส์ไปคลิกที่ Internet Options
3. คลิกเมาส์เลือกแท็บ Security
4. ในกรอบแรกเลือก Zone ที่ต้องการกำหนดการใช้งาน
5. ในกรอบของ Security level for this zone ให้คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Custom level จะปรากฏไดอะล็อกบ็อกซ์ Security Settings
6. คลิกเมาส์เลือกข้อกำหนดจากเช็กบ็อกซ์ตามที่ต้องการ (หากต้องการกำหนดตามที่ Windows
กำหนดมาให้โดยการเลือกที่ Reset custom settings แล้วเลือก Reset to)
7. คลิก OK เพื่อยืนยัน
ขั้นตอนการปรับแต่งขนาดและภาษาของตัวอักษรสำหรับแสดงหน้าเว็ปเพจ
1. คลิกเมาส์ที่เมนู View
2. เลื่อนเมาส์ไปที่ Text Size
3. คลิกเมาส์เลือกขนาดของตัวอักษรตามที่ต้องการ
4. เลื่อนเมาส์ไปที่ Encoding
5. คลิกเมาส์เลือกภาษาที่ต้องการให้ IE แสดงในหน้าเว็ปเพจ
ขั้นตอนการใช้งานเว็ปเพจขณะไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Favorites
2. เลื่อนเมาส์ไปที่ Add to Favorites จะปรากฏไดอะล็อกซ์ Add Favorites ขึ้นมา
3. คลิกเมาส์เลือกเช็กบ็อกซ์ Make available offline เพื่อกำหนดให้เว็ปเพจสามารถดูได้แม้ไม่ได้ Online
4. พิมพ์ชื่อของเว็ปเพจที่ต้องการลงในช่อง Name
5. คลิกเมาส์เลือก Customize จะปรากฏไดอะล็อกบ็อกซ์ Offline Favorite Wizard
6. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Next
7. คลิกเลือกจำนวนหน้าที่เว็ปเพจต้องการ link สำหรับเข้าเยี่ยมชม
8. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Next
9. คลิกเลือก option Only when I choose synchronize from the Tools menu เพื่อกำหนดให้ทำการ Synchronize เว็ปเพจ เมื่อคลิกเมาส์ที่คำสั่ง Synchronize ที่อยู่ในเมนู Tools เท่านั้น
10. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Next
11. คลิกเลือก option No เมื่อไม่ต้องการกำหนดพาสเวิร์ดให้กับการ Synchronize เว็บเพจ
12. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม Finish
13. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม OK จะปรากฏไดอะล็อกบ็อกซ์ Synchronizing

ขั้นตอนการปรับแต่งเว็ปไซต์ที่เข้าเยี่ยมชมบ่อยๆ ด้วย Favorite Sites
1. คลิกเมาส์ที่เมนู Favorites
2. เลื่อนเมาส์ไปที่ Add to Favorites จะปรากฏไดอะล็อกบ็อกซ์ Add Favorites ขึ้นมา
3. พิมพ์ชื่อของเว็บเพจตามต้องการในช่อง Name
4. คลิกเมาส์ที่ปุ่ม OK

การปรับแต่ง IE ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
อย่างที่เคยบอกไว้ว่าจะมาบอกวิธีแก้ไขและป้องกันคอมพิวเตอร์ของเราให้รอดพ้นจากมัลแวร์ (Malware) ตัวร้ายนะคะ

ก่อนอื่นต้องขออธิบายคำว่า "Malware" อีกครั้ง

มัลแวร์ หรือโปรแกรมประสงค์ร้าย (Malicious Application; MalWare) ก็คือโปรแกรมที่ทำงานแบบไม่หวังดีกับระบบคอมพิวเตอร์ อันหมายรวมถึง ไวรัสคอมพิวเตอร์ (Virus), หนอนคอมพิวเตอร์ (Worm), ม้าโทรจัน (Trojan Horse), โปรแกรมแอบดักข้อมูล (Spyware),โปรแกรมโฆษณา (Adware), Backdoor, Key Logger ฯลฯ

คำแนะนำกว้างๆเพื่อป้องกันคอมพิวเตอร์ของคุณจาก มัลแวร์เหล่านี้ ตามที่จขบ.ได้รวบรวมมาก็มีหลายวิธีมากๆ จึงเห็นว่าจะค่อยๆเลือกเฉพาะวิธีที่เราสามารถทำได้เองง่ายๆ และมาทยอยอัพขึ้นบล็อคให้นะคะ เริ่มจากวิธีการแรกไปดูกันเลยค่ะ
1. การปรับแต่ง Internet Explorer ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น


1.1 ไปที่เมนูของ IE เลือก Tools > Options > Security Tab

1.2 Click เลือกที่ Icon "Internet"

1.3 Click เลือกที่ปุ่ม Custom Level จากนั้น ตั้งค่าตามดังต่อไปนี้ค่ะ

- Download signed ActiveX controls Set เป็น Prompt

- Download unsigned ActiveX controls Set เป็น Disable

- Initialize and script ActiveX controls not marked as safe Set เป็น Disable

- Installation of desktop items Set เป็น Prompt

- Launching programs and files in an IFRAME Set เป็น Prompt

- Navigate sub-frames across different domains Set เป็น Prompt

1.4 Click OK จากนั้นจะมี Popup ขึ้นมาถามว่าต้องการบันทึกค่าที่เราเพิ่งกำหนดใหม่หรือไม่ ให้ตอบ Yes

1.5 Click Apply และ OK เพื่อปิดหน้าต่าง Settings นี้ไป

ขออธิบายนิดนึงค่ะ การปรับแต่งตามค่าข้างต้นจะช่วยให้ Browser (ในที่นี้ คือ Internet Explorer) ไม่ดาวน์โหลดอะไรมาสุ่มสี่สุ่มห้า ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราเข้าไปเล่นเว็บหนึ่ง แล้วจะเว็บนั้นมี Flash Movie อยู่ด้วย แล้วบังเอิญเครื่องเราไม่มีโปรแกรมเล่น Flash Movie ถ้าโดยปกติ ถ้าเครื่องเราไม่มีความปลอดภัยเพียงพอเว็บนั้นก็จะติดตั้งโปรแกรมสำหรับเล่น Flash Movie ให้เราเลยโดยไม่ถามก่อน แต่หลังจากเรากำหนดความปลอดภัยให้มีมากขึ้นตามวิธีการข้างบนแล้ว ทุกครั้งที่เว็บจะมีการติดตั้งโปรแกรมอะไรบนเครื่องของเราก็จะมี Popup ขึ้นมาถามความเห็นชอบของเราก่อนทุกครั้ง ยอมเสียเวลากันนิดหน่อยแต่เพื่อความปลอดภัยที่ดีกว่านะคะ

                                                              

                                                        



  



ICT สำหรับผู้บริหาร
เรื่องราวของ ICT แลดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากแสนยากสำหรับผู้บริหาร เหตุใดผู้บริหารจึงรู้สึกเช่นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การรู้จักใช้ ICT ส่วนหนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องมีโอกาสได้สัมผัสกับตัวตนของมันจริงๆ ต้องเข้าใจศาสตร์ของเทคโนโลยีว่า กระบวนการและประโยชน์ของมันจริงๆคืออะไร ซึ่งจะช่วยให้การบริหารICT ใช้กันอย่างคุ้มค่าและตรงกับวัตถุประสงค์ของมัน
เนื่องจากเราอยู่ในโลกหรือสังคมแห่งฐานความรู้ ที่มีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนของข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางและทั่วถึงกัน คำถามที่ต้องคิด คือ เราจะจัดการกับข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่บนโลกนี้ได้อย่างไร
ICT เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ตลอดจนเป็นผู้ช่วยในการจัดการข้อมูลได้อย่างเป็นระบบหรือนำไปช่วยในการ ตัดสินใจ ฯลฯ ดังนั้น นักบริหารการศึกษาจึงมิอาจปฎิเสธที่จะต้องใช้ ICT เข้ามาช่วยในการทำงาน
ทั้งนี้ เห็นด้วยว่านักบริหารไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT แต่จำเป็นต้องรู้จักเทคโนโลยีนั้นๆ ว่า คืออะไร มี function และคุณสมบัติอย่างไร ตลอดจนผู้บริหารต้องมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นบางอย่าง เพราะ ICT ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรู้ในตำราที่จะสามารถท่องจำได้ แต่จะต้องอาศัยการฝึกฝนและปฏิบัติใช้ให้เป็นในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสมต่อไป

เป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
คือ การขยายพิสัยของทรัพยากรของการเรียนรู้ กล่าวคือ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มิได้หมายถึงแต่เพียงตำรา ครู และอุปกรณ์การสอน ที่โรงเรียนมีอยู่เท่านั้น แนวคิดทางเทคโนโลยีทางการศึกษา ต้องการให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนจากแหล่งความรู้ที่กว้างขวางออกไปอีก แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ครอบคลุมถึงเรื่องต่างๆ เช่น คน วัสดุและเครื่องมือ เทคนิค-วิธีการ และสถานที่
อย่างไรก็ตามเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีเป็น สำคัญ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ดังนั้นนักบริหารการศึกษาจึงมีความจำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศบ้าง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและความรู้

การจัดบริการด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโรงเรียน
เพื่อให้เป็นบริการทางเลือกหรือบริการการสืบค้นหาองค์ความรู้ด้วยตนเอง หรือเรียนรู้ตามอัธยาศัยของนักเรียน สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนต้องคำนึงถึง คือ ความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนในโรงเรียน ที่มีความรู้ความสามารถรวมถึงทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมกัน การจัดการบริหารเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโรงเรียนเพื่อให้บริการแก่นักเรียน ทุกกลุ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง นักเรียนบางคนมีทักษะชั้นสูงเพราะมีโอกาสฝึกฝนมาก่อน แต่บางคนไม่มีแม้แต่พื้นฐานที่จะใช้บริการด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนต หรือการรับรู้ข่าวสาร สารสนเทศใด ๆ การให้ความรู้ การฝึกฝนทักษะและประสบการณ์ที่ถูกต้องและเหมาะสม แก่นักเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นการวางรากฐานด้านการใช้เทคโนโลยีและยังสามารถปลูกฝังทัศนคติใน การเลือกเรียน เลือกรู้ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ด้วยอีกทางหนึ่ง การจัดการบริหารเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโรงเรียน จึงต้องคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ จะต้องสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่ม ให้ได้รับโอกาส มีความเสมอภาคเท่าเทียม ทั่วถึง ที่จะรับบริการดังกล่าวจากทางโรงเรียนเสมอกัน กลุ่มพื้นฐานก็ให้มีกิจกรรมพัฒนาเพิ่มขึ้น กลุ่มเก่งก็ได้รับการดูแลส่งเสริม ให้ทุกคนได้รับโอกาสตามระดับความสามารถ ความถนัดและความสนใจ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจึงสามารถพัฒนานักเรียนได้

การรู้จัก ICT สำหรับผู้บริหารทางการศึกษา
เป้าหมายสำคัญคงไม่ใช่เป็นการรู้เพื่อทำเป็น และเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นการรู้เพื่อทำให้เกิดวิสัยทัศน์ ในการที่จะนำ ICT มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาองค์การทางการศึกษา โดยการรู้นั้นต้องเป็นการรู้และเข้าใจอย่างท่องแท้ ในประเด็นลักษณะการทำงาน ผลประโยชน์ ผลกระทบ ข้อจำกัด เป็นต้น ผมขออนุญาตกล่าวถึงท่าน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เท่าที่ผมได้ติดตามการทำงานและผลงานของท่าน ผมคิดว่า ท่านไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน ICT แต่ท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อย่างยิ่งในการนำ ICT มาใช้และพัฒนางานด้านการศึกษาของประเทศไทย จนเป็นที่ยอมรับยกย่องทั่วโลก อย่างเช่นกรณีของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ท่านได้เคยก่อตั้งและเป็นอธิการบดี
มีผู้บริหารหลายคนที่ยังไม่เข้าใจคำว่า ICT ดีพอ และไม่เข้าใจว่าจะนำมาใช้งานด้านการบริหาร การจัดการ ได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางสถาบันยังขาดผู้ที่มีความรู้ดีพอในด้าน programer ในการที่จะดำเนินการให้เกิด ICT ที่สมบูรณ์เพียงพอ โดยเฉพาะความรู้ที่เป็นเฉพาะทางเช่น วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ รวมทั้งห้องสมุดของวิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือและห้องสมุดกรมแพทย์ทหารเรือที่ อยู่ใกล้กันแต่ไม่สามารถที่จะค้นคว้าข้อมูลร่วมกันได้ การบริหารจัดการของผู้บริหารในวิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือก็ยังไม่มีระบบ ICT เข้ามาช่วยงาน จึงยังต้องพัฒนาต่อไป

ICT มาจากคำว่า
Information and Communication Technologies ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ Hardware, Software, และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเราเอามาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา เริ่มตั้งแต่ ใช้เพื่อการบริหาร การจัดการเรียนการสอน การจัดการสอบ การควบคุมระบบห้องสมุด และอื่นๆ อีกมากมาย
นักบริหารไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT เราสามารถขอความรู้หรือใช้งานคนที่มีความรู้ความสามารถได้ แต่อย่างน้อยเราก็ต้องตามเขาทัน ไม่ใช่พูดอะไรไม่รู้เรื่องเลย การจะรู้ก็ต้องมีการขวนขวาย และจะเรียนรู้ให้ได้เข้าใจ ไม่ใช่ไปฟังเขาบรรยายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ถ้าไม่ลองฝึกปฏิบัติเป็นผู้ใช้งานด้าน ICT บ้าง ก็จะไม่เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จึงต้องมีการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้มีทักษะที่จำเป็น ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักบริหารมีอะไรบ้าง

ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักบริหาร



สำหรับนักบริหาร ทักษะความรู้ความสามารถในการบริหารและการนำที่สำคัญสามารถสรุปเป็นแนวคิดสั้นๆได้ว่าจัดเป็น 3 ระดับ ด้วยกันคือ
เก่งงาน หมายถึง ความรู้ความสามารถด้านการใช้เทคนิคและวิธีการทำงาน ตลอดจนการใช้ ทรัพยาการให้เหมาะสมกับสภาพการปฎิบัติงาน
เก่งคน หมาย ถึง ความสามารถในทางการบริหารจัดการเรื่องคน มนุษย์สัมพันธ์ มีทักษะในการ เข้ากับคนได้ดี รู้จักใช้คน ลงโทษคนและจูงใจให้คนศรัทธา ร่วมงานด้วยทั้งแรงกาย และแรง
เก่งคิด หมาย ถึง ความสามารถในการนึกคิด สติปัญญาไหวพริบ ความเฉลียวฉลาด ทันคน ทัน เหตุการณ์ มีวิสัยทัศน์ และความสามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
ใน การบริหารจัดการโดยทั่วไปนั้น ระดับขั้นและความรับผิดชอบของงานตั้งแต่ในการบริหารในระดับต้น การบริหารระดับกลาง และการบริหารระดับสูง จะมีความต้องการทักษะหรือระดับของความเก่งงาน เก่งคน เก่งคิด ที่แตกต่างกันไป ดังรูปประกอบ



ซึ่ง หมายความว่า ในการบริหารระดับต้น โดยลักษณะงาน ผู้บริหารมีความจำเป็นหรือควรที่จะเก่งงานค่อนข้างมาก (55) เก่งคนพอสมควร (31 ) แต่เก่งคิดในระดับหนึ่ง (14)
แต่เมื่อเป็นการบริหารจัดการระดับกลางแล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นไปที่ทักษะของการเก่งคนมากขึ้นกระทั่ง เมื่อเป็นการบริหารระดับสูง เรื่องที่มุ่งเน้นก็จะกลายเป็นเรื่องของการเก่งคิด มากกว่าเรื่องอื่นๆ แต่ทั้งนี้ ทักษะในการเก่งคน และ เก่งงานก็ยังคงต้องมีอยู่โดยพร้อมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในการบริหารและการนำที่สำคัญอาจขยายความในภาพรวมของทักษะความรู้ความสามารถได้ ดังนี้

มีความรู้ดี
โดย เฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในวิชาชีพของตนเอง นอกจากนี้ยังต้องมีความรอบรู้ในเรื่องราวต่างๆ มีนิสัยใฝ่การศึกษาหาความรู้ใส่ตนอยู่เสมอ และมีความถนัดจันเจนในการวางแผนการทำงาน

มีบุคลิกภาพดี
มี กิริยามารยาทดี การแต่งกายสะอาดสะอ้าน วาจาท่าที ตลอดจนอุปนิสัยใจคอ อารมณ์และบทบาท เป็นที่พึงพอใจและนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้พบเห็น

มีความสามารถเฉพาะบุคคล
มีทักษะในการบริหารความขัดแย้ง คือมีความสามารถในการที่จะทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้โด
ไม่ เกิดความขัดแย้งกัน มีความรับผิดชอบสูง และเป็นที่พึ่งแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา กล้าเผชิญปัญหา มีทักษะในการแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจที่ดี มีความเป็นธรรม ฟังความเห็น ไม่หูเบา เอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชา และมีความยุติธรรมแก่ทุกคน มีทักษะในการพิจารณาคน การดูแลเอาใจใส่คน การบริหารจัดการช่วงใช้คน และการประเมินคน.

สรุป นักบริหารกับ ICT
ในปัจจุบันนักบริหารกับ ICT มีความสำคัญอย่างมากในยุคโลกาภิวัฒน์ และยุคแห่งการเรียนรู้ เพราะ ICT จะทำให้ผู้บริหารมีความรู้ที่กว้างไกล และสามารถสืบค้นข้อมูลต่างๆได้ในเวลาอันรวดเร็ว ลดเวลาและค่าใช้จ่างต่างๆเป็นอย่างมาก
แต่การบริหารจัดการในระบบของ ICT นั้นที่ประกอบไปด้วย softward hardward และ peopleward นั้น ในที่ทำงานของดิฉัน มี hardward อย่างเพียงพอ แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลบำรุงรักษา เครื่อง และนักโปรแกรมเมอร์ที่จะออกแบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพราะโรงเรียนที่ดิฉันปฏิบัติงานอยู่เป็นโรงเรียนเล็กๆ มีคอมพิวเตอร์สำหรับให้นักเรียนได้ใช้งานในห้องสารสนเทศ 35 เครื่อง ไม่รวมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานสำหรับอาจารย์อีก ประมาณ 15 เครื่อง ดังนั้นในการบริหารจัดการการบำรุงรักษาเครื่อง เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์จึงปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากในการวางแผนของผู้บริหารอาจจะลืมนึกถึงปัญหาการ maintanance และงบประมาณต่างๆที่จะต้องเกิดตามมา เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นมา ผู้บริหารควรที่จะต้องมีการวางแผนในเรื่องงบประมาณ และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในเรื่องการซ่อมบำรุงรักษา ให้เพียงพอ


เชื่อมโยงสื่อ PowerPoint : หลักการและแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารและการจัดการ